พี่วาฬจะพาทุกคนมารู้จักกับนวัตกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น รวมถึงนักวิจัยอัจฉริยะของไทยที่ได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ครับ
สวัสดีครับทุกคน วันนี้พี่วาฬอยากทราบว่าเพื่อน ๆ เคยเห็นหรือเคยใช้งานนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ถูกนำมาเพื่อพัฒนาสังคมและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์กันบ้างรึเปล่า? เพราะว่าหัวข้อที่พี่วาฬจะมาพูดถึงในวันนี้ก็คือนวัตกรรมเพื่อสังคมนั่นเองครับ พร้อมทั้งแนะนำนักวิจัยคนไทยที่คิดค้นนวัตกรรมอัจฉริยะรวมไปถึงแนะนำ ตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อสังคม จากต่างประเทศกันด้วยครับ
นวัตกรรมเพื่อสังคม
นวัตกรรมเพื่อสังคมคืออะไร ก่อนอื่นพี่วาฬขออธิบายคำว่า ”นวัตกรรม” ของแต่ละคนอาจมีนิยามแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วมักเป็นการพูดถึง สิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่สร้างขึ้นมาจากองค์ความรู้หรือความคิดสร้างสรรค์ และสามารถเกิดขึ้นได้จริงพร้อมกับสร้างประโยชน์ในด้านต่างๆ เมื่อนำมาผนวกกับคำว่า “สังคม” หมายความว่า สิ่งใหม่ที่สร้างขึ้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ เพื่อแก้ไขและตอบสนองต่อปัญหาทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้น กระบวนการ ผลิตภัณฑ์ หรือรูปแบบการพัฒนาใหม่ๆ นั่นเองครับ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสังคม สิ่งแวดล้อม และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้นวัตกรรมเพื่อสังคมจะมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 อย่างได้แก่
- มีความใหม่และตรงตามความต้องการของสังคม
- เกิดขึ้นได้จริงและสามารถแพร่กระจายไปสู่สังคมได้
- ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม
ในสมัยก่อนภาครัฐนั้นมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขและเข้าถึงปัญหาทางสังคมอย่างมาก และแม้องค์กรของรัฐจะเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่และมีอำนาจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก แต่ก็ขาดความคล่องตัวและความเข้าใจทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นล่าช้าและไม่ตรงจุด ส่งผลให้สังคมไม่สามารถพัฒนาได้มากเท่าที่ควร ภาคเอกชนได้เล็งเห็นถึงปัญหาด้านนี้ ปัจจุบันองค์กรเอกชนหลายแห่งจึงได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ร่วมมือพัฒนา และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้แก่สังคม จึงเกิดเป็นองค์กรต่างๆ มากมาย อาทิ มูลนิธิ สหกรณ์ และองค์กรการกุศลต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมเป็นหลักอีกด้วย ทำให้สังคมและชุมชนต่างๆ สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นครับ
ตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อสังคมในต่างประเทศ
ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเพื่อนๆ อาจจะเคยเห็นตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อสังคมแบบผ่านตามาบ้างแล้ว พี่วาฬก็มีนวัตกรรมเพื่อสังคมที่น่าสนใจจากต่างประเทศมานำเสนอครับ
- The Power Floor project
บริษัท Ferrovial จากประเทศสเปนได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า “Flow” เป็นทางเดินที่ใช้ประโยชน์จากพลังงานจลน์ (Kinetic Energy) ที่เกิดจากการก้าวเท้า และแปลงพลังงานดังกล่าวมาเป็นไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลงานชนะเลิศจากโครงการ “Zuritanken” ที่ในปัจจุบันนี้มีการใช้งานจริงที่สนามบินฮีทโธรว์ (Heathrow Airport) ในประเทศอังกฤษอีกด้วยครับ
● Citizenlab
ในประเทศเบลเยียม Citizenlab ได้มีการคิดค้นแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ทำให้ภาครัฐได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับประเด็นและปัญหาทางสังคมต่างๆ และให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองที่อยู่อาศัย โดยสามารถโหวตลงคะแนน ตลอดจนลงเงินสนับสนุนโครงการได้ด้วย
● Joint Data Center
องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เก็บบันทึก สะสมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลของผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย ที่กำลังเป็นวิกฤติไปทั่วโลก โดยร่วมมือกับ UNHCR และร่วมมือกับธนาคารโลก วิเคราะห์ข้อมูลประชากรและเศรษฐกิจสังคม รวมถึงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเพศ อายุ รายได้ ทักษะ และสุขภาพ เพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อช่วยผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายใน คนไร้สัญชาติ ผู้ถูกส่งกลับผู้ลี้ภัย และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ กำหนดนโยบาย ด้วยโครงการที่จะให้ความช่วยเหลือได้ตรงกับความต้องการ
นักวิจัยคนไทยที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม
นอกจากองค์กรในต่างประเทศแล้ว ในประเทศไทยก็มีการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม เช่นกันครับ พี่วาฬขอยกตัวอย่างนักวิจัยจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาดูกันเลยว่าจะมีใครบ้าง
ดร. ชัยพฤกษ์ เกตุเพ็ชร ที่ทำการคิดค้นวัสดุปิดแผลไบโอเซลลูโลสคอมพอสิต (Biocellulose Composite Wound Dressing) โดยวัสดุปิดแผลนี้ถูกผลิตขึ้นมาจากจุลินทรีย์ด้วยการเปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็นเส้นใยเซลลูโลสบริสุทธิ์ เพื่อสร้างสภาวะความชุ่มชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมกับร่างกายเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้เองนอกจากนี้ยังเป็นวัสดุที่ไม่ติดกับบาดแผล และลดอาการเจ็บปวดขณะเปลี่ยนวัสดุอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุของไทยได้เป็นอย่างดีครับ
คุณเกียรติสกุล วัชรินทร์ยานนท์ ผู้พัฒนานวัตกรรม EV Wall Charger เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งจะเป็นกลไกการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในปัจจุบัน
คุณณิชาพร ศิริมังคลากุล ผู้พัฒนานวัตกรรม PTT Novel Microchannel Heat Exchanger นวัตกรรมเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนไมโครแชแนล ซึ่งเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแนวคิดใหม่ที่จะมาทดแทนการใช้งานความร้อนแบบดั้งเดิมซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 40 ล้านบาท สามารถใช้งานเชิงพาณิชย์ได้จริง และนวัตกรรมนี้สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่น เช่น LPG, LNG, HVAC และอุตสาหกรรมด้านอาหาร
โดยประโยชน์อื่น ๆ ที่ได้รับจากการพัฒนานวัตกรรม PTT Novel Microchannel Heat Exchanger คือ ได้รับองค์ความรู้ด้าน Microchannel Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการออกแบบให้เครื่องมือในกระบวนการผลิตซึ่งจะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิม 70 – 90%, ช่วยลดอุณหภูมิของสารไฮโดรคาร์บอนในกระบวนการลงจากเดิม 5 – 20 องศาเซลเซียส เพื่อให้สารไฮโดรคาร์บอนกลั่นเป็นของเหลวได้มากขึ้นและได้ยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศกว่า 40 ฉบับ นอกจากนั้น ยังเป็นนวัตกรรมที่สามารถประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายได้มากถึง 40 ล้านบาท เลยทีเดียวครับ
เห็นได้ชัดเลยนะครับว่านวัตกรรมเพื่อสังคมถูกสร้างมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตได้ดีจริงๆ ซึ่งทั่วโลกก็ต่างผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่ตลอด และพี่วาฬหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยจะมีนวัตกรรมมากมายเพื่อมาทำให้การใช้ชีวิตของเพื่อนๆ ทุกคนได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้นครับ
ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล:
https://social.nia.or.th/2019/article0001/
intelligence.businesseventsthailand.com
Heathrow inaugurates “Flow”: a corridor illuminated by travellers’ footsteps – Ferrovial’s blog.