วงการเทคโนโลยีนำหุ่นยนต์มาช่วยรับมือกับปัญหาโควิด-19 ในหลายรูปแบบด้วยกัน นับตั้งแต่เป็นผู้ช่วยแพทย์ ช่วยการสื่อสารระหว่างญาติกับคนไข้ และช่วยทำความสะอาดสถานที่ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ายังไม่ควรวางใจว่าหุ่นยนต์จะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับการแก้ปัญหาโควิดเสียทีเดียว
ตัวอย่างเช่นในอียิปต์ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ามีการใช้หุ่นยนต์ที่ควบคุมจากระยะไกลเพื่อช่วยวัดอุณหภูมิ ตรวจเลือดคนไข้ รวมทั้งช่วยเตือนถ้ามีคนไม่สวมหน้ากากในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งของกรุงไคโร โดยหุ่นชื่อ Cira-03 ตัวนี้มีหัว ใบหน้า และลำตัวเหมือนมนุษย์แต่เคลื่อนที่บนฐานที่มีล้อและมีหน้าจออยู่ตรงฐานเพื่อแสดงผลการตรวจหัวใจและการเอ็กซเรย์ปอดได้
ส่วน Mitra ซึ่งหมายถึงเพื่อนในภาษาฮินดูก็เป็นหุ่นยนต์ยอดนิยมแบบหนึ่งที่ใช้อยู่ในอินเดียขณะนี้ โดย CNN รายงานว่า Mitra ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาคล้ายหุ่นจริงๆ นี้มีหน้าจอขนาดแท็บเล็ตติดอยู่ที่หน้าอกและใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ใบหน้าทำให้สามารถจำชื่อและหน้าของคนไข้ได้ แถมยังช่วยเป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ป่วยที่ต้องอยู่ในห้องแยกตัวกับแพทย์และญาติของคนไข้ได้ด้วย โดยหุ่น Mitra ดังกล่าวมีราคาประมาณ 10,000 ดอลล่าร์หรือราว 300,000 บาทไทย
มาในสหรัฐฯ หนังสือพิมพ์ Chicago Tribune รายงานว่า Mark, Rowan, Dorian และ Jabba ล้วนเป็นหุ่นยนต์ระดับแนวหน้าที่ช่วยฆ่าเชื้อซึ่งโรงพยาบาลในเขตนครชิคาโกเริ่มนำมาใช้ แต่เนื่องจากหุ่นดังกล่าวอย่างเช่น Rowan นั้นมีหน้าที่หลักในการฆ่าเชื้อที่พื้นผิวในโรงพยาบาลดังนั้นจึงมีรูปร่างคล้ายถังขยะติดล้อและเครื่องดูดฝุ่นขนาดใหญ่มากกว่า
โดยมีความสูงราวครึ่งตัวคนแต่สามารถทำงานได้เองด้วยการปล่อยคลื่นอุลตร้าไวโอเลตทรงพลังเพื่อฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในจุดหรือพื้นที่ต่างๆ ซึ่งพนักงานทำความสะอาดอาจจะเข้าไม่ถึง หุ่นเหล่านี้อยู่ในชุดหุ่นยนต์ Lightstrike ซึ่งมีสนนราคาตกตัวละถึง 125,000 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามทางบริษัท Xenex บอกว่าปีนี้มีความต้องการเพิ่มขึ้นและขายไปได้แล้วราว 900 ตัว
สำหรับตัวอย่างของหุ่นยนต์ช่วยงานในยุคโควิด-19 ตัวสุดท้ายเป็นของบริษัท Xenex เช่นกัน ซึ่งตามรายงานของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์นั้นมีหน้าที่ช่วยทำความสะอาดสนามบินในรัฐเท็กซัส โดยหุ่นดังกล่าวมีความสูงเพียงแค่ 43 นิ้วและมีขนาดเท่ารถเข็นสำหรับคนพิการ แต่สามารถส่งลำแสงอุลตร้าไวโอเลตทรงพลังออกไปในรัศมี 7 ฟุตรอบตัวเพื่อฆ่าเชื้อได้
และข้อดีของหุ่นดังกล่าวก็คือมีระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวเพื่อดูว่าหากมีคนเข้ามาในระยะใกล้หุ่นฉลาดที่ว่านี้ก็จะหยุดปล่อยแสงได้ชั่วคราว โดยทางบริษัทบอกว่าได้เห็นความต้องการของตลาดสำหรับหุ่นแบบนี้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 600% สำหรับปีนี้
อย่างไรก็ตามอาจารย์เมอเซเดส คาร์เนตัน แห่งภาควิชาระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัย Northwestern ก็เตือนว่าเรายังควรต้องคำนึงเสมอว่าถึงแม้หุ่นยนต์อาจจะช่วยสร้างความมั่นใจในหลายด้านโดยเฉพาะเรื่องการทำความสะอาดจุดสัมผัสก็ตาม แต่ช่องทางการแพร่เชื้อโควิด-19 ที่สำคัญนั้นคือละอองแขวนลอยในอากาศ ดังนั้นเราจึงยังต้องระวังตัวต่อไปและไม่ตายใจว่าถ้าเห็นหุ่นยนต์เหล่านี้แล้วจะมนุษย์จะปลอดภัยจากโควิด-19 เสมอไป