เทคโนโลยี

อีลอน มัคส์ทดลองฝังไมโครชิพในสมองหมูหวังช่วยแก้ปัญหาโรคระบบประสาทของมนุษย์

Pinterest LinkedIn Tumblr

อีลอน มัคส์ทดลองฝังไมโครชิพในสมองหมูหวังช่วยแก้ปัญหาโรคระบบประสาทของมนุษย์, Whale Energy Station

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว Neuralink บริษัทสตาร์ทอัพที่นายอีลอน มัคส์ร่วมก่อตั้งได้เปิดตัวหมูทดลองที่ได้รับการฝังไมโครชิพขนาดเล็กในสมอง ซึ่งทางบริษัทหวังว่าจะนำไปสู่ความก้าวหน้าด้านต่างๆ รวมทั้งการรักษาโรคทางสมองบางอย่างสำหรับมนุษย์ด้วย

อีลอน มัคส์ทดลองฝังไมโครชิพในสมองหมูหวังช่วยแก้ปัญหาโรคระบบประสาทของมนุษย์, Whale Energy Station

โดยนายอีลอน มัคส์ CEO ของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla และบริษัท Space X เอ็กซ์เปิดตัวหมูชื่อเกอทรูดจ์ที่มีคอมพิวเตอร์ชิพขนาดเท่าเหรียญเล็กๆ และมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 23 มิลลิเมตรฝังอยู่ในสมอง โดยคอมพิวเตอร์ชิพนี้ฝังอยู่ในสมองของหมูส่วนที่ควบคุมจมูกและปาก ซึ่งเมื่อหมูเกอทรูดจ์เริ่มกินและดมอาหารภาพบนจอคอมพิวเตอร์ก็แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวในการทำงานของระบบเซลล์ประสาทของหมูไปพร้อมกัน

การทดลองของบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ Neuralink ซึ่งอีลอน มัคส์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งดังกล่าวนี้มุ่งแสดงความคืบหน้าเกี่ยวกับเป้าหมายของการฝังไมโครชิพในสมองของสัตว์และในท้ายที่สุดแล้วคือคนเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทบางอย่าง เช่น อัลไซเมอร์ การสูญเสียการได้ยิน โรคซึมเศร้า การนอนไม่หลับ และเพื่อแก้ไขอาการอัมพาตจากการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ Neuralink กล่าวว่าไมโครชิพนี้จะช่วยให้แพทย์เข้าใจโรคทางสมองต่างๆ ได้ดีขึ้นจากสัญญาณคลื่นสมองที่ไมโครชิพส่งออกมา ในการทดลองครั้งนี้อีลอน มัคส์ไม่ได้เปิดเผยเป้าหมายเรื่องเวลาถึงแม้ก่อนหน้านี้เขาได้ประกาศว่าจะเริ่มทดลองในคนได้ในช่วงปลายปีนี้ก็ตาม อย่างไรก็ตามอีลอน มัคส์เปิดเผยว่ามีหมูที่ใช้ทดลองสามตัวซึ่งได้รับการฝังไมโครชิพขนาดเล็กตัวละสองชิ้นและหมูทุกตัวล้วนมีสุขภาพดี มีความสุข และมีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากหมูตัวอื่นแต่อย่างใด

อีลอน มัคส์กล่าวด้วยว่าวัตถุประสงค์ของการสาธิตครั้งนี้คือเพื่อสร้างความสนใจและระดมความรู้ความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาเพื่อเร่งการพัฒนาที่เดิมถูกจำกัดอยู่เฉพาะในห้องทดลองให้เป็นจริงได้เร็วขึ้น ขณะนี้ Neuralink บริษัทสตาร์ทอัพไฮเทคในนครซานฟรานซิสโกดังกล่าวมีเงินทุน 158 ล้านดอลลาร์โดย 100 ล้านดอลลาร์เป็นเงินจากอีลอน มัคส์และมีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ราว 100 คน

เกรมี มอฟฟาต นักวิจัยด้านระบบประสาทที่มหาวิทยาลัยแห่งนครโตรอนโตกล่าวว่า Neuralink ได้แสดงความคืบหน้าให้เห็นจากขนาดของไมโครชิพ ความสามารถในการจัดการพลังงาน และการส่งสัญญาณแบบไร้สายของไมโครชิพที่ฝังอยู่ในสมองหมู อย่างไรก็ตามนักวิจัยคนอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้เตือนว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาวอย่างน้อยเพื่อให้แน่ใจว่าไมโครชิพชิพนี้จะใช้งานได้นานเพียงใด

นายอีลอน มัคส์ซึ่งมีผลงานความสำเร็จในการผลักดันความก้าวหน้าใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์หลายด้าน เช่น จรวด Space X รถไฟฟ้า Tesla และระบบคมนาคม Hyperloop เคยเตือนบ่อยครั้งเกี่ยวกับความเสี่ยงหรืออันตรายของการนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้ แต่ในครั้งนี้อีลอน มัคส์กล่าวว่าความสำเร็จทางการแพทย์ของโครงการฝังไมโครชิพในสมองจะเหมือนกับการหลอมรวมมนุษยกับปัญญาประดิษฐ์เข้าด้วยกันซึ่งจะทำให้ระบบปัญญาประดิษฐ์เป็นเสมือนส่วนต่อขยายของเรานั่นเอง