สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์วันที่ 11 – 15 พ.ย. 67 และแนวโน้มสัปดาห์วันที่ 18 – 22 พ.ย. 67
ตลาดกังวลอุปสงค์น้ำมันโลกอ่อนแอ และนโยบายของ Trump หนุนดอลลาร์แข็งค่ากดดันราคาน้ำมันดิบ
IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2567 เพิ่มขึ้น 920,000 บาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 102.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับลดลง 20,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน) และปี 2568 เพิ่มขึ้น 990,000 บาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 103.81 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับลดลง 30,000 บาร์เรลต่อวัน จากครั้งก่อน) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและจีนชะลอตัว ประกอบกับจีนปรับเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าทำให้การใช้น้ำมันลดลง
สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นของจีนนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน ต.ค. 67 ลดลง 4.6% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงติดต่อกัน 7 เดือน จากโรงกลั่นอิสระ (Teapot) ในมณฑล Shandong ลดอัตราการกลั่นอยู่ที่ 59% (-18% จากปีก่อนหน้า) นอกจากนี้ ศาลมีคำสั่งให้โรงกลั่น 3 แห่งของบริษัท Sinochem กำลังการกลั่นรวม 380,000 บาร์เรลต่อวัน (ประมาณ 3% ของทั้งประเทศ) ล้มละลายในเดือน ก.ย. 67
วันที่ 14 พ.ย. 67 ดัชนีดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (DXY Index) ช่วงซื้อขายระหว่างวัน (Intraday Trade) แตะระดับ 107.06 จุด สูงสุดในรอบ 1 ปี โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5% จากระดับ 103.42 ในวันที่ 5 พ.ย. 67 (วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ) จากความเชื่อมั่นต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนาย Donald Trump ผู้ชนะการเลือกตั้ง อนึ่ง ล่าสุดดัชนี DXY ยังคงเคลื่อนไหวใกล้เคียงระดับ 107 จุด
ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell กล่าวต่อที่ประชุม Business Leaders ในเมือง Dallas ประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 67 ว่า Fed ไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) ในวันที่ 17-18 ธ.ค. 67 เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลาดแรงงานยังมั่นคง อย่างไรก็ดีดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. 67 อยู่ที่ +2.6% จากปีก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 3 เดือน ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ +2% จากปีก่อนหน้า