น้ำมัน

พี่วาฬตอบข้อสงสัย ทำไมโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันไทยต้องเป็นแบบนี้

Pinterest LinkedIn Tumblr

พี่วาฬตอบข้อสงสัย ทำไมโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันไทยต้องเป็นแบบนี้, Whale Energy Station

เมื่อมีการเริ่มพูดถึงเรื่องโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมัน หลายคนยังสงสัยในประเด็นต่าง ๆ เช่น ทำไมประเทศไทยต้องมีโครงสร้างแบบนี้ ทำไมต้องอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ ทำไมไม่กำหนดราคาเอง ทำไมน้ำมันประเทศไทยถึงแพงกว่าน้ำมันประเทศเพื่อนบ้าน ทำไมต้องเก็บภาษีซ้ำซ้อน 

พี่วาฬจะมาตอบทุกข้อสงสัยด้วยการพาทุกคนไปเจาะลึก “โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมัน” ของประเทศไทยเพื่อทำความเข้าใจว่าราคาน้ำมันที่เราจ่ายประกอบไปด้วยอะไรบ้างและทำไมถึงเป็นเช่นนั้น บทความนี้อาจจะยาวหน่อยแต่อยากให้ทุกคนอ่านจนจบเพื่อเข้าใจกันมากขึ้นครับ

โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันของไทย ประกอบด้วยอะไรบ้าง

ราคาน้ำมันที่เราเห็นหน้าสถานีบริการนั้น ไม่ได้มาจากแค่ต้นทุนน้ำมันดิบเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีค่าอื่น ๆ อีกมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันของไทย ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้

  1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน 71%
  2. ภาษีและกองทุนต่าง ๆ 25%
  3. ค่าการตลาด 4%
  1. ต้นทุนเนื้อน้ำมันที่ซื้อจากโรงกลั่น 71%

ประเทศไทยอ้างอิงราคาจากราคาตลาดกลางประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นราคาที่สะท้อนสภาพความต้องการซื้อขายของทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียได้ดีที่สุด ราคานี้จะรวมค่าการปรับปรุงคุณภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับคุณภาพของประเทศไทยและค่าขนส่งที่จะแตกต่างกันไปตามระยะทางของแต่ละประเทศ หลายประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย และ มาเลเซีย ก็อิงราคาตลาดนี้เช่นกัน

พี่วาฬชวนรู้เพิ่มเติม : จากข้อมูลข้างต้น หลาย ๆ คนก็ยังคงมีคำถามต่ออีกว่าทำไมน้ำมันกลั่นที่ไทยแล้วเราต้องอิงราคาน้ำมันจากสิงคโปร์ด้วยล่ะ

ประเทศเราจัดอยู่ในกลุ่มประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิที่ต้องนำเข้าน้ำมันดิบที่ใช้ได้เป็นสัดส่วนประมาณ 90% ประกอบกับการที่ประเทศไทยเราเป็นตลาดซื้อขายเสรี การอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์จึงเป็นการรักษาสมดุลในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำมันให้เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศและเศรษฐกิจภาพรวม เพราะ…

– ถ้าไทยเราตั้งราคาน้ำมันสำเร็จรูปถูกกว่า เจ้าของโรงกลั่นก็จะส่งขายตลาดสิงคโปร์แทนเพราะได้ราคาดีกว่า ทำให้น้ำมันในประเทศขาดแคลนไม่พอใช้

– แต่ถ้าเราตั้งแพงกว่า ผู้ค้าน้ำมันก็จะไปนำเข้าจากสิงคโปร์แทน ทำให้โรงกลั่นอาจขาดรายได้และกำไร และไม่สามารถจ้างงานภายในประเทศ ซึ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้ด้วย 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าถ้าไทยกำหนดราคาเองตามใจ ไม่อิงราคาตลาดมันมีแต่ผลเสียตามมานั่นเอง

  1. ภาษีและกองทุนต่าง ๆ 25% ค่าที่ทุกคนสงสัยมากที่สุดว่าทำไมต้องเก็บซ้ำซ้อน

ราคาน้ำมันในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน นอกจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ “นโยบายภาครัฐ” ที่เข้ามามีบทบาทในการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ โดยเฉพาะเรื่อง
“ภาษีและกองทุนต่าง ๆ”  ทำให้โครงสร้างราคาน้ำมันต่างกันนั่นเอง

  • ประเทศไทย : ไทยเรายังคงต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากตลาดโลก ในสัดส่วนประมาณ 90% เนื่องจากที่เราขุดเจาะได้ไม่สามารถใช้งานได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศนั่นเอง เมื่อต้องนำเข้ารัฐบาลก็มีนโยบายการจัดเก็บภาษีและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศและลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกนั่นเอง

พี่วาฬตอบข้อสงสัย ทำไมโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันไทยต้องเป็นแบบนี้, Whale Energy Station

พี่วาฬชวนรู้เพิ่มเติม :  พี่วาฬคิดว่าอ่านมาถึงตรงนี้ ก็ยังมีหลายคนยังเชื่อหรือเข้าใจผิดๆ ว่าประเทศไทยมีบ่อน้ำมันตั้งเยอะก็ต้องขุดได้เยอะสิ แถมส่งออกได้ด้วย ทำไมต้องนำเข้าอีก 

ปัจจุบันกำลังผลิตน้ำมันดิบ “ที่ใช้งานได้จริงในประเทศไทย” ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้จริง ๆ ลองคิดตามพี่วาฬดูนะครับ

  • ปกติประเทศเราต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เราขุดน้ำมันดิบที่ใช้ได้เฉลี่ยประมาณ 10% ของจำนวนที่ต้องการใช้งานเท่านั้น
  • ส่วนน้ำมันดิบที่เราใช้ไม่ได้เพราะสารปนเปื้อนสูงเกินความสามารถของโรงกลั่นในประเทศ จะเอาไปทิ้งก็คงใช่เรื่อง เราก็เลยต้องส่งออกไปขายเพื่อนำเงินเข้ามาหมุนเวียนในประเทศ
  • แล้วน้ำมันที่เราต้องการใช้อีกประมาณ 9 แสนบาร์เรลต่อวัน จะเอาจากไหนมาใช้ล่ะครับในเมื่อเราผลิตเองไม่ได้ ก็เลยเป็นสาเหตุที่ต้องนำเข้านั่นเองครับ
  • อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนน่าจะเข้าใจแล้วนะครับว่าทำไมเราส่งออกน้ำมันได้ แต่ทำไมยังต้องนำเข้า พี่วาฬสรุปให้อีกทีก็คือเราส่งออกน้ำมันที่เรา “ใช้ไม่ได้” และนำเข้าน้ำมันที่เราต้องใช้เพราะเราผลิตได้ไม่พอนั่นเองครับ 

กลับมาที่เรื่องภาษีและกองทุนต่าง ๆ ที่รัฐบาลเรียกเก็บว่ามีอะไรบ้าง 

ภาษีน้ำมัน

  • ภาษีสรรพสามิต : จัดเก็บเพื่อนำรายได้มาใช้พัฒนาประเทศ
  • ภาษีเทศบาล : จัดเก็บเพื่อนำรายได้มาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม : จัดเก็บจากราคาขายส่งและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

กองทุนน้ำมัน

  • กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ โดยจะนำเงินจากกองทุนมาช่วยพยุงราคาเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น
  • กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน : ใช้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น

แล้ว…ถ้าไม่เก็บภาษีและกองทุนพวกนี้ได้มั้ย จะกระทบชีวิตคนไทยยังไงบ้าง?

– ถ้าไม่เก็บภาษีส่วนนี้ก็รัฐบาลคงขาดรายได้ในการนำไปพัฒนาประเทศ ซึ่งก็มีผลกระทบกับประชาชนอย่างเราแน่นอน 

– ถ้าเราไม่มีกองทุนต่างๆ ก็จะไม่มีการสนับสนุนราคาน้ำมันจากรัฐบาล ซึ่งผลกระทบหลักน่าจะกระทบกับราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นน้ำมันหลักที่เราใช้งานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง เชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม ทำให้เวลาที่ราคาน้ำมันขึ้นสูงเรื่อยๆ ประชาชนอย่างเราๆ อาจต้องเผชิญกับภาวะค่าครองชีพที่สูง จากต้นทุนของสินค้าต่างๆ ที่สูงขึ้นมากกว่าแค่ค่าน้ำมันที่ต้องจ่ายนั่นเองครับ

– ถ้าถามว่าลดสัดส่วนได้มั้ยล่ะราคาจะได้ถูกลง ประเทศอื่นไม่เก็บก็ยังอยู่ได้ พี่วาฬคิดว่าโจทย์นี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในการคิดหาวิธีบริหารจัดการเพื่อรักษาเสถียรภาพพลังงานและหารายได้ส่วนอื่นมาพัฒนาประเทศเพื่อชดเชยแทนรายได้ส่วนนี้ 

  1. ค่าการตลาด 4% 

จริง ๆ แล้ว ค่าการตลาดในที่นี้ คือ ต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ  ตั้งแต่ การบริหารจัดการคลังน้ำมันและสถานีบริการ การขนส่งน้ำมัน ค่าจ้างพนักงาน รวมถึงกำไร ซึ่งธุรกิจนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ลูกค้าอย่างเราเข้าถึงการเติมน้ำมันได้อย่างสะดวก 

พี่วาฬหวังว่าบทความนี้จะทำให้เพื่อนๆ ได้เข้าใจโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยกันมากขึ้นนะครับ ทุกคนก็คงอยากใช้พลังงานราคาถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้เวลาเห็นค่าต่าง ๆ ที่บวกจากต้นทุนน้ำมันแล้วรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ดังนั้นคงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลเพิ่มเติมในการคิดหาวิธีในการแก้ปัญหาเรื่องนี้บนข้อจำกัดทางทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศอย่างที่พี่วาฬเล่าให้ฟังไปข้างต้น และผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล หรือต่อให้เรานำเข้าน้ำมันจากมาเลเซียก็ต้องอิงราคากลางจากตลาดสิงคโปร์อยู่ดีครับ เพราะเขาก็ต้องหาเงินเข้าประเทศ ไม่มีประโยชน์ที่จะขายให้เราในราคาถูกกว่าตลาดในเมื่อมันเขาสามารถขายราคาดีกว่านั้นได้ ใช่มั้ยล่ะครับ

 

อ้างอิงข้อมูล 

https://www.thansettakij.com/sustainable/energy/595848#google_vignette

https://www.offo.or.th/th/node/542

https://www.longtunman.com/42556

https://www.longtunman.com/37082

https://www.longtunman.com/39568