🛢️ หลายคนน่าจะเคยสงสัยว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปไทย ทำไมจึงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลา และมีราคาที่แตกต่างจากราคาน้ำมันตลาดโลก 💰
วันนี้พี่วาฬจะมาสรุป 2 ปัจจัยหลัก ที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปไทยให้ทุกคนได้รู้กัน
ปัจจัยที่ 1 : ราคาตลาดน้ำมันที่ประเทศไทยอ้างอิง
แน่นอนว่าราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยสัดส่วนหลักมาจากต้นทุนเนื้อน้ำมัน ซึ่งใช้หลักการกำหนดราคาโดยอ้างอิงจากราคาตลาดโลก เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยอ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ที่เป็นตลาดซื้อขายน้ำมันใหญ่ที่สุดของเอเชีย และใกล้ประเทศไทยมากที่สุด 💰
แล้วราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มาจากสาเหตุอะไร
📉 – การขยายตัวทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น เป็นแรงผลักดันให้ราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้น
⛽ – ภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสภาวะสงครามในแต่ละภูมิภาค รวมถึงปริมาณสำรองน้ำมัน (Inventory) ของโรงกลั่นน้ำมันในแต่ละภูมิภาค
🌦️ – สภาพอากาศและภัยพิบัติ เช่น พายุเฮอริเคน หรือ แผ่นดินไหว ที่มีผลให้โรงกลั่นต้องหยุดการผลิต หรือได้รับความเสียหาย ซึ่งส่งผลต่อปริมาณน้ำมันที่ผลิตเข้าสู่ตลาด
🛡️ – สงครามการค้า เช่น การออกมาตรการกีดกันทางการค้า การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าหรือส่งออก
ปัจจัยที่ 2 : นโยบายภาครัฐ
✨ นโยบายสนับสนุนราคาน้ำมัน (Price Subsidy) หรือ มาตรการภาษี การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ย่อมมีผลต่อการปรับขึ้นลงของราคาน้ำมันในแต่ละประเทศให้มีความแตกต่างกัน เช่น
– ประเทศมาเลเซีย ที่รัฐบาลไม่มีนโยบายการจัดเก็บภาษี เนื่องจากมีทรัพยากรน้ำมันอยู่มากและไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากตลาดโลก จึงสามารถกำหนดราคาขายให้ต่ำได้
– ส่วนประเทศไทย ที่รัฐบาลมีนโยบายจัดเก็บภาษีและกองทุน เพื่อเป็นกลไกของรัฐในการรักษาระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ เนื่องจากโดยหลักยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบจากตลาดโลกเพื่อผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูป
ดังนั้น การที่ราคาน้ำมันบ้านเราเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลา และแตกต่างจากน้ำมันตลาดโลก จริง ๆ ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกันนะครับ 💡
#พลังวาฬบางอย่าง #วาฬช่วยบอกต่อ #Energyน่ารู้ #ราคาน้ำมัน