น้ำมัน

3 องค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างราคาน้ำมันไทย

Pinterest LinkedIn Tumblr

3 องค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างราคาน้ำมันไทย, Whale Energy Station

🛢️ พี่วาฬว่าหลายคนน่าจะมีคำถาม ว่าทำไมราคาน้ำมันมีขึ้น มีลง ไม่คงที่ แล้วราคาน้ำมัน 1 ลิตร ประกอบไปด้วยค่าอะไรอะไรบ้าง วันนี้พี่วาฬจะมาเล่า 3 องค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทยให้ทุกคนได้รู้กัน

💰 ต้นทุนเนื้อน้ำมัน หรือ “ราคา ณ โรงกลั่น” มีสัดส่วนประมาณ 71% ของราคาน้ำมัน ซึ่งการกำหนดราคาแบบ Import Parity ที่อ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์ คือ ตลาดซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย สามารถสะท้อนถึงการซื้อขายของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศอื่น ๆ ในเอเชียก็ใช้หลักการกำหนดราคาดังกล่าวเช่นกัน

💰 ค่าภาษีและกองทุนต่าง ๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของราคาน้ำมัน ประกอบด้วย 

– ภาษีสรรพสามิต

– ภาษีเทศบาล เรียกเก็บเพื่อบำรุงท้องถิ่น คิดเป็น 10% ของภาษีสรรพสามิต

– ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%)

– กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรียกเก็บโดยกระทรวงพลังงาน จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เมื่อเกิดราคาน้ำมันผันผวน

– กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการค้นคว้าวิจัย พัฒนาการใช้พลังงานทดแทนตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงานของประเทศ 

💰 ค่าการตลาด เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าบริหารจัดการดูแลสถานีบริการ รวมถึงกำไรของผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 รวมคิดเป็นประมาณ 4% ของราคาน้ำมัน

ซึ่งโครงสร้างทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ก็เป็นโครงสร้างหลักของราคาน้ำมันในหลายๆ ประเทศ แต่จะแตกต่างกันในรายละเอียดที่ทำให้ราคาพลังงานของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน

พี่วาฬว่าเพื่อน ๆ น่าจะเข้าใจกันมากขึ้นว่าทำไมราคาน้ำมันถึงมีความผันผวน ⛽

และสิ่งสำคัญที่สุดพี่วาฬอยากให้ทุกคนร่วมมือกันใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า เช่น วางแผนการเดินทางให้ดี ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด เพื่อให้เรามีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตนะคร้าบ ✨