LifeStyle

จริงหรือไม่? กฟผ. กับ ปตท. ร่วมกันทำให้ค่าไฟแพง

Pinterest LinkedIn Tumblr

จริงหรือไม่? กฟผ. กับ ปตท. ร่วมกันทำให้ค่าไฟแพง, Whale Energy Station

 

         “ค่าไฟแพง” เป็นหนึ่งสิ่งที่หลายๆ ครัวเรือนได้รับผลกระทบ แต่สิ่งที่ทำให้พี่วาฬเดือดเนื้อร้อนใจยิ่งกว่าค่าไฟแพง คือ การที่เห็นว่ามีการแชร์ข้อมูลผิดๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ว่า กฟผ. กับ ปตท. ร่วมกันทำให้ค่าไฟแพง พี่วาฬเลยอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจว่า จริงๆ แล้วต้นเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงเกิดจากอะไร และค่าไฟที่เราจ่ายในแต่ละเดือนนั้น คิดจากอะไรบ้าง  รวมถึงวิธีประหยัดค่าไฟที่ทำได้ง่ายๆ

 

จริงหรือไม่? กฟผ. กับ ปตท. ร่วมกันทำให้ค่าไฟแพง, Whale Energy Station

 

         ค่าไฟแพง อาจจะไม่ได้มาจากการที่เราใช้ไฟมากขึ้นเสมอไป แต่อาจจะมีตัวแปรอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะถ้าไปดูโครงสร้างค่าไฟที่เราต้องจ่ายทุกเดือน จะประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน

1.ค่าไฟฟ้าฐาน แบ่งเป็น ค่าพลังงานไฟฟ้า คิดตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้จริง ในอัตราก้าวหน้า หรือพูดง่ายๆ ว่า ยิ่งใช้ไฟมาก ยิ่งต้องจ่ายค่าไฟแพง
อีกส่วน คือ ค่าบริการ ซึ่งจะมีอัตราเท่ากันทุกเดือน โดยจะคิดตามประเภทของมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ซึ่งถ้าเป็นบ้านอยู่อาศัย ก็จะใช้มิเตอร์ไฟสำหรับบ้านอยู่อาศัย​ โดยค่าไฟฟ้าฐาน จะมีการปรับทุก 3-5 ปี

2.ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า FT หมายถึง​ ค่าต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ที่อาจจะมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิงที่มีความผันผวน อัตราเงินเฟ้อ ไปจนถึงอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเวลานั้นๆ โดยค่า FT จะมีการปรับปรุงทุก 4 เดือนเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนผลิตไฟฟ้า

3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จะคิดเป็นส่วนสุดท้าย โดยบวกเพิ่มจากค่าไฟฟ้าฐานที่รวมค่า FT แล้ว

 

จริงหรือไม่? กฟผ. กับ ปตท. ร่วมกันทำให้ค่าไฟแพง

         พี่วาฬยกตัวอย่าง ช่วงที่เกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย​ ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนผลิตสูงตาม จนทำให้ต้องมีการปรับขึ้นค่า FT และทำให้ค่าไฟแพงขึ้น ทั้งที่เราอาจจะใช้ปริมาณไฟฟ้าเท่าเดิม

         ทีนี้ ถ้าถามว่า พอค่า FT มีตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้แบบนี้ จะเป็นช่องโหว่เหมือนที่มีการแชร์ในโลกโซเชียลหรือไม่ว่า ปตท. ร่วมมือกับ กฟผ.ทำให้ค่าไฟแพง ประเด็นนี้พี่วาฬมองว่า เป็นความเชื่อและการบอกต่อที่ผิด เพราะราคาก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. ขายให้ กฟผ. นั้นมีหน่วยงานภาครัฐ คอยกำกับดูแลตาม พรบ. ประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้มีความโปร่งใสและมีราคาที่เหมาะสม

         ดังนั้น นอกจาก ปตท. จะไม่ได้มีส่วนทำให้ค่าไฟแพงแล้ว ยังช่วยบรรเทาต้นทุน “ค่าไฟ” ด้วยการยืดเวลาชำระหนี้ให้ 4 เดือนในช่วงที่ตรึงค่า FT ตามนโยบายของภาครัฐตอนปลายปี 2564 โดยไม่คิดเบี้ยปรับล่าช้า​อีกด้วย

 

เคล็ด(ไม่) ลับ เซฟค่าไฟ

         แม้ค่า FT จะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ค่าไฟแพง แต่อย่าลืมว่า ไฟฟ้าไม่เหมือนสินค้าอื่น ที่ยิ่งซื้อเยอะจะยิ่งถูก เพราะค่าไฟฟ้าจะคำนวณในอัตราก้าวหน้า หมายความว่า คนที่ใช้ไฟฟ้าเยอะ ยิ่งต้องจ่ายค่าไฟแพง ดังนั้น ถ้าไม่อยากจ่ายค่าไฟแพง ก็ต้องเริ่มจากการใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

1.ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด หากไม่อยู่บ้านหรือไม่ได้ใช้งาน เพราะจุดเล็กๆ นี้ อาจเป็นต้นเหตุให้ค่าไฟแพงได้ เนื่องจากต่อให้ไม่ใช้งาน แต่กระแสไฟฟ้ายังคงไหลเวียนอยู่ตลอด

2.ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 26 องศาฯ และหมั่นทำความสะอาด เพื่อให้เครื่องปรับอากาศ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่กินไฟ

3.หมั่นสำรวจอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ว่ายังใช้งานได้ดีหรือไม่ เพราะอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายอาจทำให้เปลืองไฟมากขึ้น และทำให้ต้องจ่ายค่าไฟแพงโดยไม่จำเป็น

 

         มาถึงตรงนี้ ทุกคนคงเข้าใจแล้วว่า ค่าไฟที่เราจ่ายทุกเดือนนั้นคิดอย่างไร จะได้ไม่หลงเชื่อข้อมูลผิดๆ ที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์ หรืออย่างน้อยถ้าเจอปัญหาค่าไฟแพง ก็อย่าเพิ่งหัวเสีย ลองดูให้ดีว่าที่ค่าไฟแพง เพราะเราเผลอใช้ไฟมากขึ้นหรือเปล่า จะได้ทำตามวิธีพี่วาฬแนะนำ เพื่อเซฟค่าไฟ

 

อ้างอิง :
https://siamrath.co.th/n/309014
https://www.bangkokbiznews.com/news/1006560
https://www.youtube.com/watch?v=JKI73C43bxQ
https://workpointtoday.com/why-electricity-bill-more-expensive
https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กฟผ-กับ-ปตท-ร่วมกันทำให้ค่าไฟแพง/