เพื่อน ๆ รู้จัก “คาร์บอนเครดิต” กันไหม? ถ้าไม่รู้จักว่า คาร์บอนเครดิต คืออะไร? ก็ไม่เป็นไร เพราะพี่วาฬจะมาอธิบายให้เพื่อน ๆ ได้เข้าใจเอง
ปัญหาภาวะโลกร้อนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าจะมาจากภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง ท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาไม่มากก็น้อย จึงทำให้คาร์บอนเครดิตเข้ามามีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน
คาร์บอนเครดิต คืออะไร?
คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บไว้จากการทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการดูดซับก๊าซก่อมลพิษมาจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่า การใช้เครื่องดักจับก๊าซคาร์บอนฯ รวมทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าเส้นฐานที่องค์กรหรือบริษัทจะปล่อยได้หากดำเนินการตามปกติโดยไม่มีความพยายามในการลดคาร์บอนเครดิตจึงเป็นสิทธิ์ขององค์กรหรือบุคคลที่ได้ลงมือปฏิบัติการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกซึ่งวัดออกมาเป็นปริมาณได้และสามารถนำสิทธิ์นั้นไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตสร้างเป็นรายได้กลับคืนสู่องค์กร
สิ่งนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้คนในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ปกติไม่ได้มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนส่วนเกินมาสู่โลก เช่น ภาคการเกษตรสามารถเข้ามามีร่วมและได้ประโยชน์กลับคืนเป็นรายได้ด้วยการนำคาร์บอนเครดิตของตนเองที่ได้มาจากใช้พื้นที่ปลูกต้นไม้เพิ่ม หรือการทำไร่ ทำนา ทำสวนยางพารา เป็นต้น หรือแม้แต่ชุมชนก็สามารถปลูกต้นไม้บางชนิดเพื่อเพิ่มรายได้จากการนำคาร์บอนเครดิตที่มีอยู่นั้นไปขายได้ด้วย วิธีการก็คือ นำคาร์บอนเครดิตมาขึ้นทะเบียนขายให้กับธุรกิจอื่นที่ปล่อยก๊าซในระดับสูงเกินเกณฑ์และจำเป็นต้องหาเครดิตมาชดเชย
พี่วาฬจะยกตัวอย่างให้เพื่อน ๆ เข้าใจง่ายมากขึ้น คือ แต่เดิมนั้นบริษัทต่างดำเนินธุรกิจและปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ออกมาในปริมาณหนึ่ง แต่เมื่อบริษัทได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่เพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่ปล่อยออกมาได้ เช่น การเปลี่ยนเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตสินค้ามาเป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากพลังงานสะอาดซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอน ฯ ลดลงได้ ก็สามารถนำปริมาณคาร์บอนฯ ที่ลดลงนั้นมาคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตและนำไปขายสร้างเป็นรายได้กลับคืนสู่บริษัท ขณะเดียวกันบริษัทก็อาจมีกิจกรรมดำเนินการในบางกรณีที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯออกมามาก ก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อนำมาชดเชยปริมาณคาร์บอนฯ ที่ปล่อยออกมาซึ่งในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตก็มีประเภทของคาร์บอนเครดิตหลากหลายให้เลือกซื้อ เช่น คาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมปลูกป่า คาร์บอนเครดิตจากโครงการชีวมวล เป็นต้น
ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต คืออะไร?
การซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ (Regulatory carbon market) ซึ่งเป็นเกณฑ์ภาคบังคับที่แต่ละประเทศกำหนด
2. ตลาดซื้อขายภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) สำหรับคนที่อยากเข้าร่วมเอง ซึ่งพี่วาฬต้องบอกก่อนเลยว่า ปัจจุบันกลไกการได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยยังเป็นตลาดซื้อขายภาคสมัครใจ โดยสามารถขึ้นทะเบียนได้กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เพื่อนำสิทธิมาขายในตลาดคาร์บอนเครดิตภายใต้โปรแกรม Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER)
แล้วคาร์บอนเครดิตสำคัญต่ออุตสาหกรรมประเทศไทยอย่างไร?
ปกติแล้วในวงการอุตสาหกรรมก็จะมีขนาดที่แตกต่างกันออกไป ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศไม่เท่ากัน ซึ่งแต่ละองค์กรจะได้รับจำนวนคาร์บอนเครดิตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปในอากาศที่ต่างกันอีกด้วย ดังนั้นบางโรงงานบางอุตสาหกรรมต้องมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าจำนวนคาร์บอนเครดิตที่ได้รับ ทำให้ต้องมีการซื้อจากองค์กรอื่น ๆ ที่ได้ขายคาร์บอนเครดิตในตลาด เพื่อทำให้สามารถปล่อยก๊าซเหล่านั้นได้มากขึ้น ถ้ามองดี ๆ การมีคาร์บอนเครดิตนั้นเป็นเหมือนการบังคับในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ต้องหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศแทนที่จะต้องจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิตจากองค์กรอื่น ๆ ในทุกปี
แล้วตอนนี้มีผู้ให้บริการซื้อขายคาร์บอนเครดิตไหม?
มีองค์กรหรือบริษัทไหนบ้างที่กำลังทำเรื่องตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันบ้าง พี่วาฬจะยกตัวอย่างให้เพื่อน ๆ ได้รู้เอง
Mekha V ผู้ให้บริการด้าน Cloud Innovation และเป็น Flaship ด้าน AI, Robotics และ Digitalization ของกลุ่ม ปตท. ที่จะช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการ Carbon Emissions ใบรับรองเครดิตพลังงานหมุนเวียนตามมาตรฐาน ผ่านแพลตฟอร์ม ReAcc ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านการจัดหา และจับคู่ซื้อผู้ผลิตพลังงานสะอาดที่ได้ใบรับรองการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificates : RECs จากหน่วยงาน I-REC Standard ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้กลุ่มอุตสาหกรรม ในรูปแบบ One Stop Service ไม่ว่าจะเป็น การเป็นที่ปรึกษา Carbon Neutrality Partner, การขอใบรับรอง REC, การซื้อขายใบรับรอง REC และการชำระสิทธิ์ใบรับรอง REC (Redemption) :ซึ่ง Mekha V ต้องการผลักดันให้ทุกอุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้
อีกทั้ง แพลตฟอร์ม ReAcc ภายใต้บริษัท Mekha V นี้ยังได้ร่วมมือกับบริษัท ROOTCLOUD จากประเทศสิงคโปร์ ยกระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ด้วยเทคโนโลยี Blockchain และขยายประสิทธิภาพ รวมถึงศักยภาพในการให้บริการการทำธุรกรรมด้านพลังงานสะอาดผ่านการจัดการข้อมูลด้วย Big Data และรองรับทุก IoT Solutions สุดยอดไปเลย พี่วาฬชอบมาก
นอกจากนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ยังได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย ทำสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Credit Linked Derivatives ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของประเทศไทย ที่ออกแบบและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ด้านการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงิน รวมถึงเป็นการส่งเสริมเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งสองบริษัทอีกด้วย
พี่วาฬคิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจได้เห็นบริษัท หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับคาร์บอนเครดิตมากขึ้น และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนในองค์กรมากขึ้นเพื่อช่วยกันลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
ที่มาของข้อมูล
https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-40712.aspx
https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-30408.aspx
https://readthecloud.co/reacc/
https://positioningmag.com/1410308
https://www.warehousechod.com/th/news/detail?d=qQScAKtk
https://www.mreport.co.th/experts/business-and-management/325-Carbon-Credit-Thailand
https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/tips-for-you/mega-trend-carbon-credit.html
https://re-fti.org/carbon-credit-is/https://blockfint.com/blog/difference-between-renewable-energy-certificate-and-carbon-credit