สถานการณ์โลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน คือสัญญาณอันตรายที่ทำให้ทั่วโลกไม่อาจนิ่งเฉย หรือมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลังๆ มานี้ Net Zero Emission หรือก็คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ จะกลายเป็นวาระสากลที่ทั่วโลกตั้งเป้าว่าอยากจะทำให้สำเร็จ วันนี้พี่วาฬเลยอยากมาชวนคุยว่า ทำไม Net Zero Emission ถึงเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งที่ทุกประเทศอยากไปให้ถึง และประเทศไทยจะไปถึง Net Zero Emission ได้อย่างไร
ก่อนอื่น พี่วาฬขอทำความเข้าใจก่อนว่า Net Zero Emission ไม่ใช่การไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เป็นการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก พร้อมกับสร้างสมดุลในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยแนวคิดที่ว่า ผลิตก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไหร่ ก็ต้องหาวิธีดูดกลับ หรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกนั้นให้ได้เท่ากับที่ปล่อยออกมา
ส่วนเหตุผลที่ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับ Net Zero Emission ถึงขนาดขีดเส้นตายว่า ต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ให้ได้ภายในปี 2050 ก็เพราะว่า ถ้าเรายังปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ โลกก็จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลทั้งต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด
ดังนั้นถ้าเราอยากควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทุกประเทศต้องร่วมด้วยช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายในปี 2030 และเข้าสู่ Net Zero Emission ให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งตอนนี้ก็มีกว่า 137 ประเทศแล้ว ที่ให้คำมั่นว่าจะบรรลุ Net Zero Emission ภายในปี 2050
สำหรับประเทศไทยเอง ก็มีหมุดหมายสำคัญว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และเป็น Net Zero Emission ภายในปี 2065
แน่นอนว่า การที่จะพิชิตเป้าหมาย Net Zero Emission ภายในเวลาที่จำกัดได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมา พี่วาฬก็เห็นว่ามีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ออกมาประกาศกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน ปักหมุดไปสู่ Net Zero Emission มากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นก็คือ กลุ่ม ปตท. ที่จริงจังกับเรื่อง Net Zero Emission จนพี่วาฬอยากเอามาเล่าสู่กันฟัง เพราะเขามีนโยบาย PTT Net Zero ที่วางเป้าหมายไว้ชัดเจน
ในก้าวแรก กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15 ภายในปี 2030 ก้าวถัดมา คือ บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 ส่วนปลายทาง คือ ต้องการบรรลุเป้าหมาย PTT Net Zero ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายประเทศถึง 15 ปี โดยปตท. จะใช้ แนวคิด “เร่งปรับ – เร่งเปลี่ยน – เร่งปลูก” เพื่อไปให้ถึง PTT Net Zero
เร่งปรับ : ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด ผ่านโครงการสำคัญ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) พร้อมกับนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization : CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เดินหน้าปรับปรุงกระบวนการผลิต นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต และผลักดันการใช้พลังงานไฮโดรเจน
เร่งเปลี่ยน : เพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาดและการเติบใตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน
เร่งปลูก : เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยการปลูกป่าอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังเดินเครื่องเต็มที่เพื่อสานต่อนโยบาย PTT Net Zero ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ กลุ่มบริษัท Envision บริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อลดคาร์บอน ด้วยการนำแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ มาใช้ที่อาคารต้นแบบ M4 ที่สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) จ.ระยอง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ของวังจันทร์วัลเลย์ เพื่อทำให้อาคารดังกล่าวเป็นอาคาร Zero Import ทั้งหมดทั้งนี้ หากประสบความสำเร็จ กลุ่ม ปตท. จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero Emission
ทั้งหมดที่พี่วาฬเก็บมาเล่าให้ฟัง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ PTT Net Zero ที่ทางกลุ่ม ปตท. ตั้งใจเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศไทยไปสู่ Net Zero Emission แต่อย่างที่บอกว่า Net Zero Emission เป็นวาระระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ซึ่งพี่วาฬหวังว่าจะได้เห็นภาคส่วนต่างๆ ออกมาร่วมมือร่วมใจสร้างโลกที่น่าอยู่ให้เกิดขึ้นจริง
อ้างอิง :
https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-34524.aspx
https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-30295.aspx?page=11
https://www.nxpo.or.th/th/9651/
https://www.posttoday.com/business/688724