สิ่งแวดล้อม

ทำความรู้จัก ‘พลาสติกชีวภาพ’ (Bioplastics) ความหวังของมวลมนุษยชาติ

Pinterest LinkedIn Tumblr

ทำความรู้จัก ‘พลาสติกชีวภาพ’ (Bioplastics) ความหวังของมวลมนุษยชาติ, Whale Energy Station

ทุกคนเคยสงสัยกันไหมครับว่าแต่ละวันที่เราใช้ชีวิตและบริโภคสิ่งต่าง ๆ นั้น เราสร้างขยะออกสู่โลกมากน้อยแค่ไหน และเมื่อรวมกับของคนอื่นแล้ว เป็นปริมาณสูงแค่ไหนกัน? ข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute, TEI) นั้นพบว่าเฉพาะในประเทศไทย มีปริมาณขยะมูลฝอยเกินขึ้นกว่าปีละ 27.8 ล้านตัน หรือคิดเป็น 1.13 กิโลกรัม ต่อคน / ต่อวันโดยเฉลี่ย และในสัดส่วนขยะทั้งหมด เป็นขยะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ไปแล้วกว่า 12-13% หากนับรวมทุกจังหวัด และกว่า 20% หรือราว 2,000 ตันต่อวัน หากนับเฉพาะในกรุงเทพมหานคร

ผลการสำรวจโดยทีม Helmholtz Center for Environmental Research จากประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ยังเผยให้เห็นว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 7 ใน 12 ประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก (0.41 ล้านตัน) สะท้อนว่าปัญหาขยะพลาสติกในบ้านเรานั้นควรได้รับการเร่งแก้ไข และหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญก็คือการหันมาผลิตและใช้ ‘พลาสติกชีวภาพ’ (Bioplastics) แทนพลาสติกชนิดปกติ แต่พลาสติกชีวภาพคืออะไรกัน และภาคธุรกิจนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง? วันนี้พี่วาฬมีคำตอบ

 

ทำความรู้จัก ‘พลาสติกชีวภาพ’ (Bioplastics) ความหวังของมวลมนุษยชาติ

พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) คือ พลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือจากธรรมชาติ (Biobase) เช่น น้ำตาลจากอ้อยหรือข้าวโพด, แป้งจากมันสำปะหลัง, โปรตีนจากถั่ว โปรตีนเคซีนจากนม, เซลลูโลสจากพืช ฯลฯ  บางประเภทอาจมีไฮโดรคาร์บอนจากการกลั่นปิโตรเลียมเป็นส่วนประกอบผสม หรือ ทำจากวัสดุธรรมชาติทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับแนวทางและเป้าหมาย เรียกโดยรวมว่า ‘พลาสติกฐานชีวภาพ’ (bio-based plastic)

เมื่อต้นทางมีส่วนผสมของธรรมชาติ ปลายทางจึงเป็นมิตรต่อธรรมชาติ เมื่อกลายเป็นขยะ พลาสติกชีวภาพสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ หรือที่มักเรียกกันว่า ‘ย่อยสลายทางชีวภาพ’ ภายใต้ความชื้น อุณหภูมิ และปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสม กระบวนการย่อยสลายโดยสมบูรณ์ ส่วนใหญ่จึงจะนำมาหมักทางชีวภาพหรือฝังกลบในสภาพที่เหมาะสม เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน จนองค์ประกอบพลาสติกสลายจนหมด

 

พลาสติกชีวภาพและภาคธุรกิจ

ความหวังในการทดแทนพลาสติกปกติด้วยพลาสติกชีวภาพให้ยั่งยืนแน่นอนว่าต้องมีปลายทาง คือ สามารถนำมาใช้กับ ‘ภาคธุรกิจ/ภาคอุตสาหกรรม’ ได้อย่างตอบโจทย์ โดยในปัจจุบันพลาสติกชีวภาพก็ได้ถูกพัฒนาจนมีความพร้อมที่จะดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการทางอุตสาหกรรม ชนิดที่ได้รับความนิยม ได้แก่

  • พอลิแล็กติกแอซิด (Polylactic Acid หรือ PLA)

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพชนิดพอลิเอสเทอร์ (Polyester)  สังเคราะห์จากกระบวนการหมักน้ำตาลให้เป็นกรดแล็กติก (Lactic acid) จากนั้นจึงนํามาทําปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชั่น (Polymerization) ผลิตเป็นเม็ดพลาสติก PLA มีลักษณะใส ถ่ายเทความร้อนและความชื้นได้ดีสามารถทนความร้อนได้ตั้งแต่ 60-120 องศาเซลเซียส เหมาะสําหรับใช้ในกระบวนการผลิตต่างๆ ทั้งการฉีด, การอัด, การเป่าขึ้นรูป และการผลิตเส้นใย

  • พอลิบิวทิลีนซักซิเนต (Polybutylene Succinate หรือ PBS)

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพชนิดพอลิเอสเทอร์ (Polyester)  สังเคราะห์จากปฏิกิริยาควบแน่นระหวางกรดซักซินิก (Succinic acid) ที่ผลิตจากพืช และ 1,4-บิวเทนไดออล (1,4-Butanediol) ที่ผลิตจากปิโตรเลียม  มีลักษณะขุ่น มีอัตราการสลายตัวช้ากว่า PLA เล็กน้อยแต่ขึ้นรูปได้ง่ายในหลากหลายกระบวนการและยืดหยุ่น ทนความร้อนได้ตั้งแต่ 80-95 องศาเซลเซียส ในบางการผลิต ยังสามารถนำผสมผสานกับ PLA เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติให้ทนทานและย่อยสลายได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ธุรกิจจากวัสดุชีวภาพ

ตัวอย่างการนำเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพมาใช้กับธุรกิจได้อย่างเห็นผล เช่น นวัตกรรมการเปลี่ยนของเหลือจากโรงคั่วกาแฟ (เยื่อกาแฟ)  ให้เป็นเม็ดพลาสติกคอมพาวด์ ผิวสัมผัสเหมือนไม้เหมาะสำหรับฉีดขึ้นรูปเป็นไม้เทียมในอุตสาหกรรมตกแต่งหรือใช้เป็นส่วนผสมพลาสติกชีวภาพ จากการ่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ คาเฟ่อเมซอน (Café Amazon) ช่วยเปลี่ยนเยื่อกาแฟที่จากเดิมไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เป็นภาระที่ต้องนำไปทิ้งและทำลายปีละหลายแสนบาท ตลอดจนสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมหากกำจัดไม่ดี ให้กลายเป็นวัสดุชีวิภาพมากมูลค่า

หรือ โครงการ Circular Living โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) นำร่อง เปลี่ยนจากแก้วและหลอดพลาสติกปกติเป็นแก้วและหลอดพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ประกอบด้วย

  1. แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพชนิด PBS ย่อยสลายได้โดยการฝังกลบ 180 วัน ปัจจุบันใช้แล้วทุกสาขา มีปริมาณการใช้ 1.5 ล้านแก้วต่อเดือน
  2. แก้วเย็น Bio PLA แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพชนิด PLA ทำจากพืช 100% สามารถนำกลับมารีไซเคิลใช้งานส่วนอื่นๆ ได้ ปัจจุบันใช้แล้วใน 14 สาขา มีปริมาณ 8 แสนใบต่อเดือน
  3. หลอด Bio PSB + PLA หลอดพลาสติกชีวภาพชนิด PSB ผสมกับ PLA จากอ้อยและข้าวโพด 100% ย่อยสลายได้โดยการฝังกลบ 180 วัน ใช้แล้วทุกสาขา ปริมาณ 22.5 ล้านหลอดต่อเดือน หรือ 270 ล้านหลอดต่อปี

ทำความรู้จัก ‘พลาสติกชีวภาพ’ (Bioplastics) ความหวังของมวลมนุษยชาติ, Whale Energy Station

ขอบคุณรูปภาพจาก PTT GC Group

              นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนจากถุงพลาสติกใส่เบเกอรี่เป็น ‘ถุงกระดาษ’ ช่วยให้สามารถลดขยะพลาสติกได้มากถึง 645 ตันต่อปี ทั้งนี้ ในการช่วยกันลดปัญหาขยะพลาสติกและเปลี่ยนมาใช้พลาสติกชีวภาพอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยการร่วมมือจากผู้บริโภคร่วมด้วย คือ การช่วยกันคัดแยกและทิ้งขยะพลาสติกชีวภาพแยกกับพลาสติกโดยทั่วไปเสมอ เพื่อให้สามารถนำมาย่อยสลายได้อย่างครอบคลุมและโดยสมบูรณ์

 

ที่มา