ในอนาคตอันใกล้เราอาจซื้อน้ำส้มในขวดที่ทำจากเปลือกส้มก็เป็นได้ หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้หน่วยงานวิจัยของฟินแลนด์คือ VTT Technical Research Centre of Finland รายงานการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่นำเสนอแนวทางการเปลี่ยนพลาสติกชีวภาพที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มาเป็นพลาสติกชีวภาพที่หมุนเวียนได้
ที่น่าสนใจคือเทคนิคนี้สามารถใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีเพคติน (pectin) ซึ่งเป็นโพลีเมอร์ชีวภาพ เช่น เปลือกส้มและกากหัวผักกาดหวาน มาเป็นวัสดุตั้งต้นในกระบวนการผลิต PEF (polyethy lene furanoate) ให้ทดแทนการใช้พลาสติกประเภทคืนรูปอย่าง PET (polyethylene terephthalate) ที่ทำจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งปัจจุบัน พลาสติก PET และโพลีเอสเทอร์อื่นๆ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในบรรจุภัณฑ์อาหาร ขวดพลาสติก และสิ่งทอ โดยจำนวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็น PET อยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านกิโลกรัมต่อปี ดังนั้น การเปลี่ยนมาใช้โพลีเมอร์ PEF ที่ได้จากพืช แทน PET ที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์ได้ถึง 50%
ยิ่งไปกว่านั้นคุณสมบัติการกั้นของพลาสติก PEF ยังดีกว่า PET นั่นหมายความว่าผลิตภัณฑ์อาหารจะมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น ทั้งนี้ PEF ถือเป็นพลาสติกประสิทธิภาพสูงที่นำมารีไซเคิลได้อย่างเต็มที่และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมต่างๆ สามารถลดขยะและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม.