บริษัทด้านการป่าไม้ของประเทศญี่ปุ่นและมหาวิทยาลัยเกียวโตกำลังคิดค้นพัฒนาดาวเทียมทำจากไม้ดวงแรกของโลก โดยหวังว่าจะสำเร็จภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๓ ซูมิโตโม ฟอร์เรสทรีกล่าวว่า เริ่มวิจัยเรื่องการเจริญเติบโตของต้นไม้และการใช้ไม้ชนิดนั้นเป็นวัสดุในอวกาศ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโตนำไม้ชนิดต่าง ๆ ไปทดสอบบริเวณที่มีสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วบนโลก
ขยะในอวกาศกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรในอวกาศมากขึ้น แต่ดาวเทียมที่ทำจากไม้จะเผาไหม้โดยไม่ทำให้เกิดสารที่เป็นอันตรายในชั้นบรรยากาศ และไม่กลายเป็นขยะร่วงลงสู่พื้นโลก “เรากังวลมากที่ดาวเทียมทุกดวงที่กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกอีกครั้งจะเผาไหม้และเกิดเป็นอนุภาคอลูมิเนียม ซึ่งจะลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศสูงๆ เป็นเวลาหลายปี” ทาคาโอะ โดอิ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต และนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นกล่าว “ในที่สุดมันจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของโลก” ศ. โดอิกล่าว เขาบอกว่า ขั้นตอนต่อไปคือ การออกแบบตัวดาวเทียมในฐานะนักบินอวกาศ ศ. โดอิเคยเดินทางไปสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๘ ในครั้งนั้น เขากลายเป็นนักบินอวกาศคนแรกที่ทดลองขว้างบูมเมอแรง ซึ่งออกแบบเพื่อใช้ในสภาวะที่มีแรงโน้มถ่วงน้อยเป็นพิเศษ
ชูมิโตโม ฟอร์เรสทรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือบริษัท ซูมิโตโม กรุ๊ป และก่อตั้งมานานกว่า ๔๐๐ ปีกล่าวว่า จะวิจัยหาเนื้อไม้ที่คงทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและแสงแดด โฆษกบริษัทบอกบีบีซีว่า ชนิดไม้ที่ใช้ต้องเก็บเป็บความลับในการวิจัยและพัฒนาของบริษัท ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เมื่อส่งยานอวกาศและดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะมีขยะในอวกาศตกลงสู่โลก มีการใช้ดาวเทียมมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการสื่อสาร สัญญาณโทรทัศน์ การนำทาง และการพยากรณ์อากาศ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็กำลังคิดค้นทางเลือกต่างๆ ที่จะกำจัดและลดขยะในอวกาศลง
สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum – WEF) บอกว่า ตอนนี้มีดาวเทียมราว ๖,๐๐๐ ดวงที่โคจรอยู่รอบโลก และร้อยละ ๖๐ เป็นดาวเทียมที่ไม่ได้ใช้การแล้ว หรือเป็นขยะนั่นเอง บริษัทวิจัย ยูโรคอนซัลท์ (Euroconsult) ประเมินว่า ในทศวรรษนี้มีการส่งดาวเทียมขึ้นไปปีละ ๙๙๐ ดวง หมายความว่าภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๘ จะมีดาวเทียมในอวกาศเพิ่มเป็น ๑๕,๐๐๐ ดวง บริษัทสเปซเอ็กซ์ ของอีลอน มัสก์ ส่งดาวเทียมสตาร์ลิงค์ขึ้นไปแล้วกว่า ๙๐๐ ดวง และมีแผนจะส่งขึ้นไปอีกหลายพันดวง ขยะอวกาศโคจรด้วยความรวดเร็วกว่า ๒๒,๓๐๐ ไมล์ต่อชั่วโมง ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้เมื่อไปชนกับวัตถุอื่นๆ เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๖ มีเศษขยะอวกาศเล็กๆ พุ่งชนสถานีอวกาศนานาชาติ ทำให้หน้าต่างของสถานีอวกาศที่เสริมความแข็งแกร่งเป็นพิเศษถึงกับบิ่น