สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี

‘Oceanbird’ เรือขนส่งสินค้าพลังงานลม! นวัตกรรมเพื่อโลกกรีนจากสวีเดน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 90%

Pinterest LinkedIn Tumblr

‘Oceanbird’ เรือขนส่งสินค้าพลังงานลม! นวัตกรรมเพื่อโลกกรีนจากสวีเดน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 90%, Whale Energy Station

นับเป็นนวัตกรรมที่น่าปลื้มใจอย่างมาก เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางทะเลยังเป็นหัวใจในการส่งสินค้าระหว่างประเทศไปทั่วโลกโดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับการขนส่งแบบอื่นๆ

แต่ทุกวันนี้ เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ยังใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก นั่นเองที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลทุกวันจนสร้างผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน

เมื่อไม่นานนี้ บริษัท Wallenius Marine สัญชาติสวีเดน เปิดตัว Oceanbird เรือขนส่งสินค้าพลังลมขนาดยักษ์ ความยาว 200 เมตร กว้าง 40 เมตรและสูง 100 เมตร สามารถขนส่งรถยนต์ได้มากถึง 7,000 คัน และที่สำคัญคือจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือกระจกได้ถึง 90% เพราะขับเคลื่อนด้วยพลังลมเป็นหลักโดยใช้เทคโนโลยีปีกดักลม 5 ปีก ตั้งอยู่กลางลำเรือ

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความเร็วแม้จะช้ากว่าเรือที่ใช้เครื่องยนต์ปกติ คือสามารถข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้ในเวลา 12 วัน เมื่อเทียบกับเรือขนส่งสินค้าปกติที่ใช้เวลา 7 วัน แต่ข้อดีกว่าคือใช้พลังงานสะอาด และมีต้นทุนต่ำกว่าในระยะยาว

ถ้าสังเกตปีกเรือที่มีความสูง 80 เมตร ทำให้เรือมีความสูงเหนือแนวน้ำประมาณ 100 เมตร แต่ด้วยโครงสร้างแบบยืดหดได้ก็ลดระดับลงได้ ส่งผลให้เรือมีความสูงเหนือแนวน้ำราว 50 เมตร ซึ่งจะมีประโยชน์ตอนลอดใต้สะพาน หรือหากจำเป็นต้องลดพื้นที่ผิวของปีกนกเนื่องจากลมแรง รวมถึงให้สามารถเข้าและออกจากท่าเรือได้ และเพื่อเป็นมาตรการด้านความปลอดภัยเรือลำนี้จะติดตั้งเครื่องยนต์เสริมซึ่งก็ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดด้วย

“เวลานี้เป็นเรื่องจำเป็นที่การขนส่งรูปแบบต่างๆ ต้องตระหนักถึงเรื่องความยั่งยืน มีการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจากงานวิจัยของเราพบว่า ลมเป็นพลังงานที่น่าสนใจที่สุดสำหรับการขนส่งทางมหาสมุทร เรือลำแรกจะเป็นเรือบรรทุกสินค้า แต่แนวคิดนี้สามารถใช้ได้กับเรือทุกประเภทเช่นเรือสำราญ สำหรับ oceanbird เรากำลังสร้างนวัตกรรมเรือขนส่งสินค้าแห่งอนาคต” ผู้บริหารของ Wallenius Marine กล่าว

สิบปีต่อจากนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกคนจะเห็นการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี และการปรับตัวของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน