✅ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 จากความกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และความต้องการใช้น้ำมัน โดย Platts คาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2565 ให้เพิ่มขึ้นเพียง 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า ลดลง 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
✅Goldman Sachs ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ ในปี 2565 อยู่ที่ 3.8% จากปีก่อนหน้า จากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 4.2% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron จะทำให้เศรษฐกิจพื้นตัวช้าลง อย่างไรก็ตาม นาย Anthony Fauci ที่ปรึกษาด้านโรคระบาดของรัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยว่า COVID-19 สายพันธุ์ Omicron อาจมีอันตรายน้อยกว่าสายพันธุ์ Delta ซึ่ง ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก่อนจะยืนยันข้อสรุปดังกล่าว ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (The United States Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ของสหรัฐฯ รายงาน วันที่ 6 ธ.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ใน 16 รัฐ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง
✅ติดตามการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจ P5+1 (สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน และเยอรมนี) ในรอบที่ 7 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 64 ยุติลงโดยไม่บรรลุข้อตกลง ทั้งนี้ นาย Antony Blinken รมว. กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่าอิหร่านไม่จริงจังกับการกลับมาปฏิบัติตาม JCPOA โดยการเจรจาครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 8 ธ.ค. 64 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ทั้งนี้ Reuters รายงาน อิหร่านผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ย. 64 อยู่ที่ 2.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยอิหร่านจะสามารถผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นสู่ระดับก่อนถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ที่ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ
✅ด้านเทคนิค สัปดาห์นี้ราคา ICE Brent มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 69 – 77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีโอกาสที่ ICE Brent จะขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญ คือ 73.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
🛢ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
➕EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 26 พ.ย. 64 ลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 433.1 ล้านบาร์เรล (นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า)
🛢ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
➖ที่ประชุม OPEC+ มีมติเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 65 ที่ระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวัน แม้ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากประเทศผู้บริโภค โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร ที่ประกาศระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณรวม 80 ล้านบาร์เรล