🛢️อัปเดตสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 25-29 ต.ค. 64 และแนวโน้ม 1-5 พ.ย. 64
✔️ ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงยืนเหนือระดับ 83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ถึงแม้ว่าราคาปิดตลาด ICE Brent เฉลี่ยปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงเล็กน้อย โดยคาดว่าการประชุม OPEC และ OPEC+ ในวันที่ 4 พ.ย. 64 อาจมีมติปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันมากกว่าแผนเดิมที่ระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งก่อนการประชุม มีการกดดันจากประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย รวมถึง สหรัฐฯ ล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องให้กลุ่มประเทศ OPEC+ โดยเฉพาะรัสเซียและซาอุดีอาระเบียเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันเพื่อบรรเทาวิกฤตขาดแคลนพลังงานโลก
✔️ อย่างไรก็ตามรองนายกรัฐมนตรีของรัสเซียคาดว่า OPEC+ จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันตามแผนเดิมที่ระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวัน โดยให้เหตุผลว่าการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ผนวกกับการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจ P5+1 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง พ.ย. 64 นี้ หากสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน และอิหร่านระงับโครงการนิวเคลียร์ อิหร่านจะสามารถส่งออกน้ำมันได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 0.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย. 64
✔️ ด้านเทคนิค สัปดาห์นี้ราคา ICE Brent มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 82 – 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีโอกาสที่ ICE Brent จะขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญ คือ 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
🛢️ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
➕ กระทรวงพาณิชย์ของจีนอนุมัติโควตานำเข้าน้ำมันดิบของปี 2564 เพิ่มเติม ให้แก่โรงกลั่นเอกชน Zhejiang Petroleum & Chemical (800,000 บาร์เรลต่อวัน) ปริมาณ 87.96 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้โรงกลั่นเอกชนมีโควตานำเข้าในปี 2564 รวมอยู่ที่ 1,386.4 ล้านบาร์เรล สูงกว่าโควตาปี 2563 ที่ 1,352.8 ล้านบาร์เรล
🛢️ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
➖ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 22 ต.ค. 64 เพิ่มขึ้น 4.3 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 430.8 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่ Cushing ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI ลดลง 3.9 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้าอยู่ที่ 27.3 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 ปี