สถานการณ์โควิด 19 เป็นสิ่งที่ประชากรทั่วโลกกำลังเผชิญตั้งแต่ปี 2563 แม้จะผ่านไปอย่างยากลำบากแต่ยังมีสายน้ำใจหรือความช่วยเหลือโควิด จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนในประเทศ และหวังว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติโดยเร็ว ทางด้านบริษัทพลังงานเองก็มีการส่งต่อความช่วยเหลือนี้ไปยังภาคส่วนต่างๆ ด้วยเช่นกัน ความช่วยเหลือจะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลย
ความช่วยเหลือ โควิด 19 ของบริษัทพลังงานเพื่อสู่ประชาชนไทย
เริ่มต้นกันที่บริษัทน้ำมันอย่าง บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ที่ส่งต่อความช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด 19 ด้วยการร่วมมือกับสภากาชาดไทย บริจาคเงินจำนวน 2,000,000 บาท เพื่อที่จะช่วยเหลือในด้านการให้ความรู้และการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน โดยการสร้างแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวบรวมข้อมูลในส่วนของการขอความช่วยเหลือและประสานงานกันระหว่างองค์กร และกระจายความช่วยเหลือไปได้ทั่วถึงในทุกภาคส่วนนั่นเอง
ต่อกันที่อีกหนึ่งความช่วยเหลือจากบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อีกที่หนึ่ง อย่างบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ทำธุรกิจพลังงานในประเทศไทยมานานกว่า 142 ปี โดยการช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด 19 ครั้งนี้มีโครงการ “บี.กริม ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด 19” อนุมัติงบประมาณเบื้องต้นกว่า 46 ล้านบาท สำหรับการช่วยเหลือครั้งนี้ และยังมีการจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการฝ่าวิกฤตโควิด 19 เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ประกันชีวิต และถุงยังชีพ ยังมีการระดมกำลังทางความคิดในบริษัท เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด 19 หลากหลายรูปแบบ ตอบสนองความต้องการของสังคมให้มากที่สุดออกมาเป็นรูปแบบการช่วยเหลือที่น่าสนใจ ได้แก่ มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล 4 ล้านบาท กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาด) รวมไปถึงการทำประกันชีวิตให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องผ่านโรงพยาบาลรามาธิบดีจำนวน 5 ล้านบาทเลยทีเดียว
อีกหนึ่งความช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด 19 ที่น่าสนใจคือความช่วยเหลือจากกลุ่ม ปตท. โดยเริ่มจากการสำรวจความต้องการเร่งด่วนในทางการแพทย์ จากการสำรวจนี้พบว่าเครื่องช่วยหายใจเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด 19 เช่นนี้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดของ ปตท. เพื่อช่วยเหลือประชาชนรวมไปถึงสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องในสถานการณ์โควิด 19 ด้วยการระดมทรัพยากรและเร่งจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลน ภายใต้โครงการชื่อ “ลมหายใจเดียวกัน” อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จัดหาให้ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจ (ICU Ventilator) เพื่อผู้ป่วยวิกฤต เครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง (High-Flow Nasal Oxygen) เพื่อชะลอการลุกลามอาการปอดอักเสบไม่ให้รุนแรงขึ้นจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งสิ้นจำนวนกว่า 300 เครื่อง ทั้งนี้ยังมีการจัดสรรและส่งมอบงบประมาณเพื่อทำการจัดซื้อออกซิเจนเหลว (Liquid Oxygen) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับเครื่องช่วยหายใจในการส่งต่อความช่วยเหลือไปยังพื้นที่วิกฤตโควิด 19
ความช่วยเหลือจากกลุ่ม ปตท. ต่อสถานการณ์โควิด 19 ยังไม่หมดเพียงเท่านี้โดยมีการจัดหาหมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อความดันบวก หรือ PAPR (Power Air Purifying Respiratory) สนับสนุนห้องความดันลบ พร้อมส่งต่อความช่วยเหลือในแง่ของกำลังใจและปากท้องให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยจัดสรรอาหารจากร้านเท็กซัส ชิคเก้น (Texas Chicken) เครื่องดื่มจากร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน และสินค้าวิสาหกิจชุมชนโครงการ “ชุมชนยิ้มได้” ของ ปตท. เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในด้านอาหารการกิน นอกจากนี้กลุ่ม ปตท. ยังมีการสนับสนุนเงินทุนในการสร้างโรงพยาบาลสนาม รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด 19 อย่างต่อเนื่อง โดยงบประมาณที่ถูกจัดเตรียมสำหรับการแพร่ระบาดในระลอก 3 นี้มีร่วม 200 ล้านบาทเลยทีเดียว
อัปเดตความช่วยเหลือล่าสุดในสถานการณ์โควิด 19
สถานการณ์ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยกลุ่ม ปตท. ได้มีการการระดมส่งมอบถุงยังชีพภายใต้โครงการ ”ลมหายใจเดียวกัน” ซึ่งในถุงยังชีพแต่ละชุดประกอบด้วยข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแห้ง และเครื่องดื่ม พร้อมด้วยเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยโดยความช่วยเหลือนี้จะถูกนำส่งไปยังคนในชุมชนที่อยู่ในระหว่างการกักตัว นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. เองมีการร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อสนับสนุนระบบสุขภาพและความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนโดยการช่วยเหลือในด้านการบริหารกระจายวัคซีน ที่สำคัญคือช่วยกระจายไปในภาคอุตสาหกรรมซึ่งกลุ่ม ปตท. เล็งเห็นแล้วว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และต่อลมหายใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนให้กลับมาเป็นปกติได้โดยเร็ว
ในเดือนมิถุนายน 2564 กลุ่ม ปตท. ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการจัดหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่เข้าช่วยเหลือด้วยการฉีดวัคซีนให้แก่ชุมชนที่มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) รวมถึงกลุ่มเปราะบางที่เข้าถึงวัคซีนได้ยากเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล
และทั้งหมดนี้เองเป็นการรวมความช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด 19 จากบริษัทด้านพลังงานของไทยที่พร้อมส่งต่อความช่วยเหลือนี้ไปให้ประชาชนชาวไทยทุกคนภาคส่วนเพื่อที่จะให้เกิดการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด 19 โดยเร็วและมีรอยยิ้มกลับคืนมาทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด
แหล่งที่มา:
https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-25585.aspx?page=2
https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-25586.aspx?page=2
https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-25587.aspx
https://investor-th.bgrimmpower.com/news.html/id/774449/group/newsroom_clippings