สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 14 – 18 มิ.ย. 64 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 21 – 25 มิ.ย. 64 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
🛢️ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
++รัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกข้อจำกัดทางสังคมและการประกอบธุรกิจ หลังจากประชาชนในรัฐ 70% ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างน้อย 1 โดส ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (GDP) ในปี 2564 โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 7% จากปีก่อน ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ในเดือน มี.ค. 64 ที่ 6.5%
++สำนักสถิติของจีน (NBS) รายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Crude Throughput) ในเดือน พ.ค. 64 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 160,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 14.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ พ.ย. 63
🛢️ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
–คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (ปัจจุบันอยู่ในช่วง 0-0.25%) ภายในปี 2566 เร็วขึ้นกว่าเดิม 1 ปี จากที่เคยส่งสัญญาณไว้ว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึง ปี 2567
–สำนักสารสนเทศทางพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิต Shale Oil จาก 7 แหล่งผลิตใหญ่ ในเดือน ก.ค. 64 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 38,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 7.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 63
📌 แนวโน้มราคาน้ำมัน
ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์แนวโน้มราคาน้ำมันดิบว่ามีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ตามมุมมองเชิงบวกต่อการใช้พลังงานที่ฟื้นตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ สำนักตัวแทนพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 96.39 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ 3.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 99.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ประเด็นที่น่าจับตา คือ การผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม (ประมาณปลายเดือน มิ.ย.- พ.ย. ของทุกปี) ล่าสุดกระแสลมในอ่าวเม็กซิโกมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบนอกชายฝั่งบางแห่ง เริ่มอพยพพนักงานบางส่วนออกจากพื้นที่ อาทิ บริษัท Equinor, Chevron, และ Occidental Petroleum เนื่องจากกังวลว่าจะก่อตัวเป็นพายุรุนแรง รวมทั้งการประชุมกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 1 ก.ค. 64 เพื่อทบทวนมาตรการจำกัดการผลิตน้ำมันดิบ ซึ่งปัจจุบันมีข้อตกลงลดการผลิต โดยในเดือน มิ.ย.- ก.ค. 64 อยู่ที่ระดับ 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 5.759 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ และซาอุดีอาระเบียลดการผลิตนอกเหนือข้อตกลง ในเดือน มิ.ย. 64 อีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน และวางแผนจะยกเลิกในเดือน ก.ค. 64