สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 31 พ.ค.- 4 มิ.ย. 64 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 7-11 มิ.ย. 64 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
🛢ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบ
++ เชิงบวก
➕• 1 มิ.ย. 64 กลุ่ม OPEC+ เชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันโลก มีมติคงมาตรการผ่อนคลายการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบตามแผนเดิมที่วางไว้ตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 โดยในเดือน มิ.ย. 64 ลดที่ระดับ 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ซาอุดีอาระเบียลดปริมาณการผลิตนอกเหนือข้อตกลงอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ในเดือน พ.ค. 64 OPEC+ ลดปริมาณการผลิต ที่ 6.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน และซาอุดีอาระเบียลดอีก 750,000 บาร์เรลต่อวัน
➕• สหรัฐฯ เข้าสู่ขับขี่ท่องเที่ยวในฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ Memorial Day ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 31 พ.ค. 64 โดย American Automobile Association (AAA) ประเมินการขับขี่รถยนต์ในช่วง 27-31 พ.ค. 64 เพิ่มขึ้น 53% จากช่วงเทศกาลนี้ในปีก่อน อยู่ที่ 34 ล้านราย อันเป็นผลต่อเนื่องจากความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19
– – เชิงลบ
➖• การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงแพร่กระจายในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย ส่งผลให้ในหลายประเทศเพิ่มมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด อาทิ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาย Muhyiddin Yassin ประกาศ Lockdown ขั้นสูงสุดทั่วประเทศวันที่ 1-14 มิ.ย. 64
สรุป!! 🛢
— ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะปรับเพิ่มขึ้น จากแรงหนุนของสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งส่งสัญญาณฟื้นตัว อาทิ ยอดจ้างงานนอกภาคเกษตร ในเดือน พ.ค. 64 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 559,000 ราย และเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือน เม.ย. 64 ที่ 278,000 ราย สนับสนุนอุปสงค์พลังงาน นักลงทุนจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 15-16 มิ.ย. 64 โดยกังวลว่า FOMC จะตัดสินใจเริ่มลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันอัดฉีดเม็ดเงินจำนวน 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน เพื่อป้องกันเงินเฟ้อ
— อีกทั้งอิหร่านและชาติมหาอำนาจ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และเยอรมนี (P4+1) จะเข้าสู่การเจรจาเพื่อกลับเข้าสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) รอบที่ 6 ในวันที่ 10 มิ.ย. 64 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ทั้งนี้อิหร่านและรัสเซียส่งสัญญาณว่าอาจบรรลุข้อตกลงในการเจรจารอบที่ 5 แต่ลงท้ายยังยืดเยื้อต่อไป ซึ่งหากเจรจาสำเร็จ สหรัฐฯ จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ทำให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง