ข่าวพลังงาน

กกพ.เตรียมออกกฎใหม่ ให้ Shipper จ่ายค่าปรับหากใช้ท่อก๊าซฯ แล้วทำให้ระบบเสียหาย

Pinterest LinkedIn Tumblr

กกพ.เตรียมออกกฎใหม่ ให้ Shipper จ่ายค่าปรับหากใช้ท่อก๊าซฯ แล้วทำให้ระบบเสียหาย, Whale Energy Station

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็นกฎระเบียบใหม่รองรับผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซฯ (Shipper) รายใหม่ถึง 10 ธ.ค.นี้ ใน 3 กรณีที่เกี่ยวข้องกับค่าปรับ ตามที่ ปตท.นำเสนอ และกกพ.ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว ทั้งการนำเข้าและนำออกก๊าซฯ จากระบบท่อส่งก๊าซที่ไม่สมดุล เกิน 5% , ค่าปรับการใช้ท่อก๊าซฯเกินสิทธิที่ได้รับจัดสรร และค่าปรับความเสียหายของระบบ โดยคาดว่าจะพร้อมประกาศใช้จริงในปี 2565

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมออกกฎระเบียบใหม่รองรับผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกจำนวนมากในอนาคต โดยจะมีการคิดค่าปรับกรณีการนำก๊าซฯ เข้าและออกจากท่อก๊าซฯ ไม่สมดุลกัน หรือ เรียกว่าค่าปรับในการไม่รักษาสมดุล เช่น กรณี Shipper นำก๊าซฯเข้ามายังระบบรองรับก๊าซฯ ในประเทศ 90 ตัน แต่นำออกไปใช้เพียง 60 ตัน กรณีนี้เป็นการนำเข้าและนำออกก๊าซฯไม่สมดุล จะต้องถูกเรียกเก็บค่าปรับ เป็นต้น

ทั้งนี้ กกพ.จะยอมให้การนำเข้าและนำออกก๊าซฯมีความแตกต่างกันได้ไม่เกิน 5% เท่านั้น เพื่อให้การบริหารจัดการการใช้ท่อก๊าซฯ เป็นไปอย่างสมดุล หากมีการนำก๊าซฯเข้ามาในระบบมากแต่นำออกไปใช้ช้า และค้างไว้ในท่อจำนวนมาก ก็จะเป็นการกีดกันรายอื่นที่ต้องการใช้ท่อก๊าซฯ ได้ ดังนั้นกกพ.ต้องออกกติกาเพื่อรักษาสมดุลการใช้ท่อก๊าซฯในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการกำหนดอัตราค่าปรับที่ชัดเจน เนื่องจากมี บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เป็นผู้นำเข้าก๊าซฯเพียงรายเดียวของประเทศ จึงไม่เกิดปัญหาการแข่งขันใช้ท่อก๊าซฯแต่อย่างใด แต่ในอนาคตจะมี Shipper มากขึ้นดังนั้นต้องมีกติกาการใช้คลังและท่อก๊าซฯร่วมกันอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตามเบื้องต้น บริษัท ปตท. ในฐานะผู้รับใบอนุญาตขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติ อยู่ระหว่างจัดทำข้อกำหนดการบริหารระบบส่งและศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซธรรมชาติ (Transmission System Operator Code – TSO Code) โดยได้เสนอ กกพ. คิดค่าปรับ Shipper ในการไม่รักษาสมดุล ให้ กกพ.พิจารณาในอัตราประมาณ 18.09 บาทต่อล้านบีทียู  ซึ่ง กกพ.เห็นชอบแนวทางดังกล่าว แต่ยังไม่ให้ใช้ในปี 2564 เพื่อให้ ปตท.รวบรวมความไม่สมดุลและผลกระทบต่างๆ มาเสนอ กกพ.ไปทบทวนในปี 2565 อีกครั้ง

นอกจากนี้ ปตท.ยังได้เสนอการคิดค่าปรับอีก 2 กรณี คือ “ค่าปรับการใช้ความสามารถในการให้บริการเกินกำหนด (Capacity Over-Use Penalty Charge)” กรณีใช้ท่อฯเกินสิทธิที่ได้รับจัดสรรจะต้องชำระค่าปรับ เพื่อป้องกันการจองใช้ท่อน้อยกว่าการใช้จริง และส่งผลให้อัตราค่าบริการส่งก๊าซฯทางท่อในส่วนค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า( Demand Charge-Td) ในรอบถัดไปสูงขึ้น ดังนั้น ปตท.ได้เสนอคิดค่าปรับในอัตรา 2 เท่า แต่ไม่เกิน 5 เท่าของ Td  เบื้องต้น กกพ.เห็นควรให้กำหนดในอัตรา 2 เท่าของอัตราค่าบริการ Td ในปี 2564ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดเมื่อเทียบกับต่างประเทศ  โดย กกพ.จะทบทวนความเหมาะสมในปี 2564 และประกาศใช้ในปี 2565 ต่อไป

และ “ค่าปรับความเสียหายของระบบ (Demage Penalty Charge) ซึ่งจะคิดตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเหมือนที่ผ่านมา ได้แก่ ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบส่งก๊าซฯบนบก ,ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูความเสียหายทางกายภาพที่เกิดกับท่อฯบนบก เช่น ค่าทำความสะอาด ซ่อมแซม ปรับปรุงระบบส่งก๊าซฯให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติ , รายได้ค่าผ่านท่อฯที่สูญเสียในช่วงที่ผู้บริหารระบบส่งและศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซฯไม่สามารถให้บริการได้และค่าใช้จ่ายดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอค่าปรับทั้ง กรณีการไม่รักษาสมดุล, การใช้ท่อเกินสิทธิที่ได้รับการจัดสรร และค่าปรับความเสียหายระบบ ดังกล่าว กกพ. ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว ซึ่งขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นของประชาชนทางเว็บไซต์ของ กกพ.  www.erc.or.th ระหว่างวันที่ 26 พ.ย. -10 ธ.ค. 2563 นี้