สถาบันนวัตกรรม ปตท. จึงคิดค้นนวัตกรรม โดยมุ่งแก้ปัญหานี้ ตั้งแต่ต้นทางของเศษอาหาร และเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ครบวงจร ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หลายเดือนผ่านไป “เครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ” ก็เป็นรูปเป็นร่าง โดยทีมวิจัยจากฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ของสถาบันฯ
ซึ่งเครื่องนี้จะทำงานร่วมกับการใส่เชื้อจุลินทรีย์ ผ่านระบบการทำงาน 2 ส่วนหลัก นั่นก็คือ ส่วนย่อยสลายขยะเศษอาหาร และส่วนดูดซับกลิ่น มีการออกแบบ และพัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณขยะเศษอาหาร ได้สูงสุด 5 กิโลกรัมต่อวัน
ที่สำคัญตัวเครื่องตอบโจทย์การใช้งาน มีขนาดกะทัดรัด กว้าง ยาว และสูง ไม่เกิน 1 เมตร ช่วยประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง แถมใช้งานง่าย มีระบบควบคุมสภาวะการทำงานโดยอัตโนมัติ เพียงเปิดเครื่อง ก็เริ่มทำงาน สามารถใส่ขยะเศษอาหาร พร้อมเชื้อจุลินทรีย์ได้ทันที
หลังจากนั้น 12 ชั่วโมง ก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า เป็นวัสดุปรับปรุงดิน (Bio-Soil) ที่เกิดจากการย่อยสลายขยะเศษอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ สามารถนำไปใช้ในการบำรุงต้นไม้ และบำรุงดินที่เสื่อมสภาพต่อไป
ไม่เพียงเท่านี้ นวัตกรรมเครื่องต้นแบบสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ ยังได้ผ่านการทดสอบการใช้งานจริงมาแล้ว ณ ห้องอาหาร สถาบันนวัตกรรม ปตท. ส่วนวัสดุปรับปรุงดินที่ได้จากการย่อยสลายเศษอาหารก็ผ่านการตรวจวิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการ พบว่ามีธาตุอาหาร NPK หรือไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆ ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้ โดยได้นำไปใช้บำรุงต้นไม้ในพื้นที่ของสถาบันนวัตกรรม
และไม่นานมานี้ เครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ ก็มาติดตั้งทดสอบการใช้งานจริง ณ อาคารบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) รวมกว่า 2 เดือน พบว่า สามารถทำงานได้อย่างดีตามที่ออกแบบไว้ โดยช่วยย่อยเศษอาหารที่เกิดขึ้นจากอาคาร EnCo ได้ภายในระยะเวลา 12 ชั่วโมง สามารถรองรับปริมาณขยะเศษอาหารได้ 5 กิโลกรัมต่อวัน และยังไม่เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน และเกิดเชื้อราให้กวนใจ อีกทั้งสามารถเปลี่ยนขยะเป็นวัสดุปรับปรุงดิน อีกทั้งยังมีธาตุอาหาร NPK และองค์ประกอบอื่นที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้อีกด้วย
จากการใช้งานมาระยะหนึ่งพบว่า สามารถลดขยะเศษอาหารจากอาคาร Enco ได้ทั้งหมด 139.6 กิโลกรัม เปลี่ยนขยะเศษอาหารให้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน กลับมาใช้ประโยชน์ได้ 29.06 กิโลกรัม ซึ่งถูกนำไปใช้ในการบำรุงต้นไม้ ณ บริเวณอาคารจอดรถ 2 ของบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ เป็นที่เรียบร้อย
ผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว สถาบันนวัตกรรม ปตท. จึงเข้าจับมือกับ บริษัท อินทรีย์ อีโคไซเคิล จำกัด ซึ่งทำธุรกิจทางด้านการจัดการของเสียอย่างครบวงจร ผลักดันนวัตกรรมเครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ ให้ขยายผลสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ต่อไป เพื่อเปลี่ยนขยะเศษอาหารที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศให้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น ตามแนวคิด Circular Economy ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดด้วยนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation)
สอดรับกับแนวคิด Technology for All ของนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ที่มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมและสามารถนำประโยชน์สู่สังคมได้สูงที่สุดอย่างแท้จริง