“ปตท.” เปิดเกมธุรกิจระลอกใหม่ ตั้งบริษัทย่อย “อินโนบิก (เอเซีย)” ลุยผลิต “ยา-อุปกรณ์การแพทย์” ตามยุทธศาสตร์ New S-Curve : Life Science พร้อมเข้าซื้อหุ้น “GRP” รุกพลังงานหมุนเวียนเต็มสูบ สู่เป้าหมายกำลังผลิต 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (PTT) ได้ทำแจ้งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่าคณะกรรมการบริษัท ประชุมครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 และ ครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2563 มีมติอนุมัติจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด
โดยบริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเมนท์ จำกัด (PTTGM) ที่เป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรกไม่เกิน 300 ล้านบาท และอนุมัติเพิ่มทุนเป็นประมาณ 2,000 ล้านบาทตามลำดับ เพื่อรองรับการลงทุนของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ในธุรกิจใหม่ตามกลยุทธ์ New S-Curve : Life Science อาทิ ธุรกิจยา ธุรกิจ Nutrition ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น
พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพความสามารถของ ปตท.ในด้าน Life Science (วิทยาศาสตร์ชีวภาพ) และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ
ทั้งนี้ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ดังกล่าว ถือเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.
นอกจากนี้ ปตท. ยังได้แจ้งถึงมติบอร์ดบริษัท ครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2563 ที่ได้อนุมัติการลงทุนในบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) และ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้ยืมแก่ GRP
โดยได้อนุมัติให้ PTTGM บริษัทย่อยของ ปตท. เข้าซื้อหุ้นสามัญของ GRP (บริษัทย่อยที่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ “GPSC” ถือหุ้นทั้งหมด) เป็นจำนวน 4,655,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท รวมมูลค่าการซื้อหุ้นทั้งสิ้นประมาณ 693 ล้านบาท
ซึ่งภายหลังการซื้อหุ้นดังกล่าว ทำให้ ปตท. ถือหุ้นใน GRP ในสัดส่วน 50% ของทุนจดทะเบียนผ่าน PTTGM และ GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ของทุนจดทะเบียน ทั้งนี้ ปตท. จะเข้าทำธุรกรรมการซื้อหุ้น GRP ดังกล่าวเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้น GRP สำเร็จครบถ้วน อาทิ หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้ยืนยันการรับแจ้งเพื่อทราบ เป็นต้น หรือได้รับการผ่อนผันเป็นลายลักษณ์อักษรหากมีเงื่อนไขบังคับก่อนใดไม่ครบถ้วนจากคู่สัญญาที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการธุรกรรมการซื้อหุ้น GRP จก GPSC คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2564
ทั้งนี้ ภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรมการซื้อหุ้นเสร็งสิ้น GRP จะคงสถานะเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.
ทาง ปตท. ชี้แจงด้วยว่า สำหรับวัตถุประสงค์ในการเข้าซื้อหุ้น GRP เพื่อรองรับการขขายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประทศ โดยมุ่งมั่นการลงทุนประเภทธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar energy) และธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม (Wind energy)
ทั้งนี้ การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าว สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่ม ปตท. ในการเป็นผู้นำในด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด ทำให้กลุ่ม ปตท. สามารถขยายธุรกิจ การลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจพลังงานหมุนวียน รวมทั้งเพื่อให้กลุ่ม ปตท. บรรลุเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573
ซึ่งการพิจารณาการดำเนินธุรกิจของ GRP จะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ GRP ซึ่งแต่งตั้งขึ้นจากตัวแทนร่วมกันของ ปตท. และ GPSC โดยจะปฏิบัติหน้ที่โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของ GRP เป็นสำคัญ ทั้งนี้ การเข้าร่วมลงทุนระหว่าง ปตท. และ GPSC ใน GRP นั้นไม่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของ GPSC ในฐานะบริษัทแกนนำธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภค (Power Flagship) ของกลุ่ม ปตท. แต่อย่างใด
ปัจจุบัน GRP มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังานแสงอาทิตย์ 9 โครงการใน 4 จังหวัด (ลพบุรี, สุพรรณบุรี, พิจิตร และ ขอนแก่น) มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 39.5 เมกะวัตต์ ทุกโครงการ ดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2557 – 2558
นอกจากนี้ บอร์ด ปตท. ยังได้อนุมัติให้ ปตท. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ GRP ในรูปแบบเงินกู้ยืมผ่านบริษัท ปตท. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด (PTT TCC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ตามสัดส่วนการถือหุ้น ภายหลังจากที่ ปตท. เข้าถือหุ้นใน GRP ในสัดส่วน 50% ผ่าน PTTGM แล้ว โดยมีวงเงินกู้ยืมตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 834 ล้านบาท