เมื่อเร็วๆ นี้ ซัมซุงได้ถอดบทเรียนความสำเร็จ Samsung Innovations Campus (SIC) สอนโค้ดดิ้งออนไลน์ให้สำเร็จ เน้นพัฒนาเนื้อหา แพลตฟอร์ม และพันธมิตร ปรากฎว่าเสียงตอบรับจาก “เยาวชนดิจิทัล” ผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 80% พึงพอใจ ได้รับความรู้ และทักษะที่นำไปใช้ได้จริงในอนาคต
โดยในช่วงครึ่งปีหลัง ได้เตรียมขยายผลสร้างนวัตกรรุ่นเยาว์ ต่อยอดโมเดลผสานความรู้โค้ดดิ้งกับความเข้าใจ และการพัฒนานวัตกรรม
นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด และผู้จัดการโครงการ Samsung Innovation Campus กล่าวว่า หลังจากดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งโครงการเพื่อสังคมที่พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพเด็กไทยในยุคดิจิทัลผ่านการอบรมโค้ดดิ้ง (Coding) พบว่า การยกระดับโครงการสู่รูปแบบออนไลน์ ได้ผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมโครงการอย่างดี โดยผลจากการสำรวจพึงพอใจของนักเรียนผู้ร่วมโครงการ พบว่า กว่า 80% พึงพอใจในรูปแบบ เนื้อหา สามารถนำเอาความรู้ และทักษะที่ได้ไปใช้กับงานในอนาคต แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องรูปแบบที่จำเป็นจะต้องอบรมผ่านทางออนไลน์เท่านั้น
โดยความสำเร็จของโครงการปีนี้ เกิดจากหลายปัจจัย อันดับแรก คือโครงการปรับเนื้อหา ทั้งในส่วนของโค้ดดิ้ง ที่เน้นภาษาที่สามารถเสริมความเข้าใจระหว่างกัน เป็นภาษาพื้นฐานที่เรียนได้ง่าย ผ่านห้องเรียนในลักษณะออนไลน์ และเนื้อหายังต้องเหมาะกับเยาวชนที่ไม่มีพื้นฐานด้านโค้ดดิ้งมาก่อน โครงการยังเสริมเนื้อหาในส่วนของความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรม และเครื่องมือสำหรับนวัตกร เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้ และทักษะแห่งอนาคต ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการอย่างรอบด้าน และสร้างสรรค์ไอเดียออกแบบนวัตกรรมได้
นอกจากนี้ ระบบสนับสนุนการเรียนออนไลน์ ทั้งในส่วนที่เป็นโปรแกรมเรียนสด ติดตาม และปรึกษาเนื้อหา รวมถึง ความร่วมมือจากพันธมิตรที่เข้ามาร่วมพัฒนาเนื้อหา ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้โครงการสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยปีนี้ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เป็นพันธมิตรเข้ามาช่วยพัฒนาเนื้อหาโค้ดดิ้ง 3 ภาษา Scratch C และ Python และบริษัท สยามเมนทิส จำกัด ร่วมพัฒนาเนื้อหา และออกแบบกิจกรรมเสริมความเข้าใจความสำคัญ และการออกแบบพัฒนานวัตกรรม
อาจารย์อดิศักดิ์ เสือสมิง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า จากโครงการนี้ เราได้เห็นศักยภาพของเด็กๆ ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียน ที่ทำความเข้าใจเนื้อหาที่มีความยาก และท้าทายสูงในระดับมหาวิทยาลัยได้ จากที่ไม่มีความรู้มาก่อน ประเด็นการตั้งคำถาม ซึ่งนักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนได้ดี แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความใฝ่รู้ อยากแก้ปัญหา และอยากพัฒนาผลงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ เห็นได้ชัดว่าผู้เข้าร่วมโครงการนับเป็น “เยาวชนแห่งยุคดิจิทัล” ที่แท้จริง คือทำความเข้าใจเนื้อหาไอทีได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีพื้นฐานความเข้าใจดีอยู่แล้ว นำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เพราะมีตัวอย่างให้เห็นอยู่รอบตัว เช่น แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน และประยุกต์ต่อยอดได้อย่างสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ แบบที่คนรุ่นที่ผ่านมาไม่เคยเห็นมาก่อน
“หากเริ่มปูความรู้ และช่วยผลักดันนวัตกรรุ่นเยาว์ได้เร็วเท่าไหร่ ก็สามารถส่งเสริมให้มีความรู้ และประสบความสำเร็จได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งความรู้ที่ได้รับจากโครงการ จะเป็นประโยชน์ต่อเส้นทางอาชีพนวัตกร นักออกแบบและพัฒนาโปรแกรม และนักวิจัยนวัตกรรม ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดงานในปัจจุบันแน่นอน” อาจารย์อดิศักดิ์ กล่าว
สำหรับเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ อย่าง ด.ช.ชนุดม ทัศนวิฑูรกฤษ ชั้น ม.3 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กล่าวว่า สนใจเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว เมื่อโตขึ้นก็อยากเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ เพราะคิดว่าในอนาคตจะต้องมีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ การเรียนในโครงการ SIC ทำให้มั่นใจมากขึ้นที่จะไปต่อทางด้านนี้ เพราะเรียนแล้วสนุก ได้เข้าใจวิธีการเขียนโปรแกรมภาษาต่างๆ และรู้จักคำสั่งการต่างๆ มากขึ้น
ด.ช.ชิษนุพงศ์ เลิศพิทักษ์สิทธิ์ ชั้น ม.2 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เล่าถึงการอบรมว่า โครงการ SIC ทำให้ผมได้เรียนภาษาโปรแกรมมิ่งใหม่ๆ และจากการเรียนเกี่ยวกับพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้รู้ว่าสิ่งของรอบตัวหลายอย่างที่ใช้ในปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องกับโค้ดดิ้ง อย่างโซเชียลมีเดียที่เราใช้อยู่ประจำ หรือเกมที่ชอบเล่นก็ต้องผ่านการเขียนโปรแกรม ในอนาคตอยากเขียนโปรแกรมที่ช่วยในการตามหาของส่วนตัว เพราะเชื่อว่านอกจากตัวผมเองแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่ชอบหาของไม่เจอ ตอนนี้เรากดปุ่มตามหาสมาร์ทโฟน หรือหูฟังได้ แต่ในอนาคตอยากทำให้หาของได้ทุกอย่างเลย คิดว่าความรู้ที่ได้มานำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้แน่นอน”
ด.ญ.ณภัค วิทยาดี ชั้น ม.2 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน เล่าว่า การมาร่วมโครงการ ทำให้ได้เรียนภาษาซีเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่เคยมีโอกาสได้เรียนจากที่ไหนมาก่อน และไม่ต้องเสียเงินเพื่อเรียนพิเศษนอกเวลา ความรู้ภาษาซีจะช่วยให้เข้าใจภาษาโปรแกรมมิ่งในระดับที่ยากขึ้นได้ นอกจากการเรียนโค้ดดิ้งแล้ว ตอนนี้สนใจเรื่องอาหาร อนาคตก็อยากใช้ความรู้โค้ดดิ้งเพื่อเขียนโปรแกรมที่ช่วยจัดการออเดอร์ในร้านอาหาร หนูคิดว่าความรู้โค้ดดิ้งสามารถประยุกต์ได้กับหลายๆ อย่าง
ทั้งนี้ ซัมซุงยังมีแผนที่จะขยายผลความสำเร็จของโครงการ SIC ในครึ่งปีหลัง โดยเตรียมจัดค่ายโค้ดดิ้งระยะสั้น พัฒนาต่อยอดจากโมเดลที่ผสานความรู้โค้ดดิ้งกับความเข้าใจ และการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างนวัตกรรุ่นเยาว์ที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนโลกในอนาคตต่อไป