เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้มีพิธีเปิดโครงการ STOU MODULAR “เพิ่มขีดความสามารถ…สร้างโอกาสที่ดีกว่า” โดย ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภา มสธ. เป็นประธาน พร้อมกล่าวถึงแนวคิดและทิศทาง STOU MODULAR ว่า มสธ.ได้ปฏิรูปการเรียนการสอน ด้วยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบการศึกษาทางไกล เพื่อให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และสอดคล้องกับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 โดยมหาวิทยาลัยได้พัฒนาแบบจำลองระบบการศึกษาทางไกล มสธ. ในระดับต่ำกว่าปริญญาหรือ Non-degree Programs ด้วยการจัดแนวทางการศึกษาในระบบโมดูลการเรียน หรือ Modular System มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะในการทำงานควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ เป็นระบบที่เอื้อให้นักศึกษาเรียนด้วยตนเอง มีสื่อการศึกษาที่หลากหลาย และเป็นการศึกษาตลอดชีวิต โดยใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ เพื่อสร้างความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะสมรรถนะให้เกิดประสิทธิภาพ และยึดความสามารถของผู้เรียน ที่สำคัญไม่มุ่งเน้นเนื้อหาวิชาและยังเป็นระบบที่ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เวลาใด ก็เรียนได้
รศ.ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์ รักษาการแทนอธิการบดี มสธ. กล่าวว่า STOU MODULAR เป็นแนวทางการเรียนการสอนแบบความปรกติใหม่ หรือ New Normal ที่จะตรงกับริบทของสังคมและพฤติกรรมของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตสำหรับทุกคน ด้วยการพัฒนาเนื้อหา หรือ Content ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อการสร้างทักษะใหม่ หรือ Re-Skill การพัฒนาทักษะเพิ่มเติม หรือ Up-Skill และการพัฒนาทักษะใหม่หรือ New-Skill เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ตามความต้องการของบุคคล หรือหน่วยงาน สามารถศึกษาได้ทั้งผู้ที่อยู่ในวัยเรียน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้ขาดโอกาสที่ต้องการความรู้และประสบการณ์ เพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
ด้าน รศ.ดร.สมัครสมร ภักดีเทวา รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่าสำหรับการจัดการศึกษาในรูปแบบโมดูลการเรียน เป็นชุดการเรียนที่ออกแบบให้ผู้เรียน สามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง มีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนออนไลน์ และมีกิจกรรมร่วมเรียนรู้ มีจำนวนหน่วยกิต 1–3 หน่วยกิต โดยผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนด้วยตนเอง ที่สำคัญผู้เรียนสามารถเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ในระบบคลังหน่วยกิต หรือ Credit Bank เพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งในช่วงแรกจะมีการเปิดสอน 2 รายวิชา คือ รายวิชาสีสันภาษาจีน ภาคคติความเชื่อและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ และรายวิชาการจัดการการขาย ความท้าทายที่ต้องใช้ศิลปะ และเมื่อผู้เรียนศึกษาครบหลักสูตรจะได้รับใบสมรรถนะบัตร เพื่อเป็นการรับรองความรู้ ผู้สนใจสมัครเรียนได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ modular.stou.ac.th ได้ตั้งแต่บัดนี้ และจะเปิดเรียนช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563