หลักสูตรสหวิทยาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ม.ศรีปทุม บูม นศ. สนใจเรียน พร้อมโชว์ความสำเร็จของผู้เรียนจากการสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาสังคม ในงาน Idea Market #3
มหาวิทยาลัยศรีปทุม เดินหน้าสร้างบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มี multi-skills รองรับยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ผ่านหลักสูตร “สหวิทยาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ที่ผสานศาสตร์และวิชาความรู้หลากหลาย พร้อมกับแสดงผลงานนวัตกรรมแก้ปัญหาสังคมฝีมือนักศึกษาที่เชื่อมต่อระบบ Internet of Things (IoT) ในงาน “Idea Market #3 ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 16 -17 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม
“ผศ.ดร.เกรียงไกร สัจจะหฤทัย” หัวหน้าสาขาวิชาสหวิทยาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม คณะสหวิทยาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า การสร้างบัณฑิตที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัลต้องผสมผสานศาสตร์และวิชาความรู้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะทักษะการเขียนโปรแกรมและความเข้าใจในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ปัญญาประดิษฐ์และ IoT ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงและมีบทบาทสำคัญในสังคมปัจจุบัน ตอนนี้ระบบและข้อมูลทุกอย่างสามารถเข้าถึงได้ง่ายเพียงสแกน QR Code ฉะนั้น สถาบันต้องปูพื้นฐานให้นักศึกษาสามารถต่อยอดนวัตรกรรม เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบ IoT บนพื้นฐานความชื่นชอบและสนใจของผู้เรียน เช่น คนที่ชอบด้านการเกษตรก็พัฒนาระบบสมาร์ทฟาร์ม และพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน ขณะเดียวกันในบางโปรเจคยังได้ร่วมกับสถานประกอบการ พัฒนาระบบช่วยบริหารจัดการสต๊อกสินค้า ทำให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน
“เด็ก ๆ มีแนวโน้มสนใจเข้ามาเรียนในคณะสหวิทยาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น แต่เราไม่เน้นเปิดรับนักศึกษาในจำนวนมากนักในแต่ละปีการศึกษา เพราะการเรียนการสอนเน้นปฏิบัติผ่านประสบการณ์จริงเป็นหลัก ไม่ได้วัดผลจากการทำข้อสอบ และเน้นต่อยอดโครงการหรือชิ้นงานนำไปใช้ได้จริง จึงอยากให้ในห้องเรียนไม่แออัด และช่วยให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงอาจารย์ผู้สอนได้ทั่วถึงทุกคน”
นักศึกษาสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่สนใจตามความถนัดได้ เช่น ใครที่สนใจด้านการทำธุรกิจก็สามารถไปเรียนคณะบริหารธุรกิจได้้ และนำความรู้เหล่านั้นกลับมาพัฒนาหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ปลายทางของเด็กที่เลือกเรียนคณะนี้ มักต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจหรือสตาร์ทอัพ และบางส่วนอาจทำงานในองค์กรสมัยใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยี เข้าไปปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน
ทั้งนี้ ในงาน “Idea Market #3” งานแสดงผลงานนวัตกรรมนักศึกษาชั้นปีที่ 1-3 ที่ได้จากการบูรณาการการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ นำเสนอผ่านการทำโครงงานตามโจทย์ที่ได้รับจากสถานประกอบการ ส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดผลกระทบต่อสังคม รวมกว่า 25 ชิ้นงาน ในจำนวนนี้มีหลายชิ้นงานที่โดดเด่น จากคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเชื่อมต่อกับระบบ IoT รองรับสังคมไทยก้าวสู่ยุค 5G ภายใต้แนวคิดแก้ปัญหาสังคมที่น่าสนใจ และสามารถนำไปต่อยอด เพื่อรองรับการใช้ชีวิตในสังคมยุคดิจิทัลได้ ประกอบด้วย
- Smart Trash Design and Greener Application: ถังขยะอัจฉริยะและแอปพลิเคชั่นกรีนเนอร์ แยกทิ้งง่ายด้วยเซ็นเซอร์แยกขยะขวดพลาสติกและกระป๋องโลหะ เมื่อเซนเซอร์ทำการตรวจจับประเภทขยะ ฝาถังจะเปิดขึ้นอัตโนมัติให้ทิ้งได้อย่างถูกประเภท โดยเพิ่มแรงจูงใจการทิ้งขยะลงถังด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดสะสมแต้มในแอพพลิเคชั่น สำหรับนำไปใช้จ่ายแทนเงินภายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ตัวถังขยะยังได้ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับแก๊ส เพื่อวัดค่าแก๊สที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ กลุ่ม LPG, Methane, Alcohol, Hydrogen แล้วแจ้งเตือนไปยังไลน์อีกด้วย ผลงานชิ้นนี้คิดค้นและพัฒนาโดย เกษรินทร์ พวงรัตน์, ภัคพงษ์ วุฒิกิจจาทร และยูอิจิ ฟุกุชิมะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสหวิทยาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- QSCAN: แอพพลิเคชั่นสื่อสารกับเจ้าของรถคันหน้าที่จอดขวาง พร้อมระบบเซนเซอร์ป้องกันการโจรกรรม ส่งข้อความแจ้งเตือนส่งตรงสู่สมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ นวัตกรรมชิ้นนี้เกิดขึ้นจากปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาในการจอดรถตามมา ไม่ว่าจะเป็นการจอดรถซ้อนคันหรือการจอดรถขวางทาง สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ตลอดจนประชาชนในบริเวณนั้น ๆ จึงนำประโยชนจากการใช้สมาร์ทโฟนมาช่วยในการเตือนภัยให้ผู้ใช้งานได้รับทราบถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของตน ผลงานชิ้นนี้คิดค้นและพัฒนาโดย ภูริชญา พวงมะลิ และสุภัทร พุ่มไสว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสหวิทยาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- CIGGYLESS: เครื่องดื่มช่วยลดความอยากบุหรี่ พร้อมแอพพลิเคชั่นตรวจความแข็งแรงของปอด จากส่วนผสมหลัก 3 ชนิด ประกอบด้วย หญ้าดอกขาว มะเฟือง และคาโมมายล์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาสูตรให้สามารถดื่มได้ง่ายและช่วยลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพได้จริง โดยเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ที่บางคนไม่สามารถเลิกได้แต่ต้องการลดให้น้อยลง และไม่ได้รับผลกระทบจากอาการลงแดงเพราะขาดบุหรี่ ขณะเดียวกันในสเต็ปที่สองทีมงานได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน สำหรับตรวจความแข็งแรงการทำงานของปอด เมื่อผู้สูบทราบถึงประสิทธิภาพการทำงานของปอด จะเป็นแรงผลักดันช่วยให้สามารถลดการสูบลงได้ ผลงานชิ้นนี้คิดค้นและพัฒนาโดย แบรี่ เล็ก เดย์, ชนกกมล ราชแผ้ว และกัญญ์ปภัส วีรสถิระนาวิน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสหวิทยาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม