เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า ตนเน้นย้ำนโยบายให้ที่ประชุม กพฐ.เห็นชัดเจนถึงการพัฒนาการศึกษาในแต่ละจังหวัด โดยตนได้ยกตัวอย่าง 2 จังหวัดที่ถือเป็นโมเดลในการปูพื้นฐานเบื้องต้น คือ จ.ภูเก็ต และ จ.สุมทรสงคราม ที่ได้ดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับนโยบายนี้ไปดำเนินการ โดยจะเข้าหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะอนุกรรมการที่ขับเคลื่อนการศึกษาในแต่ละจังหวัด เพื่อพัฒนาโมเดลการศึกษาของแต่ละจังหวัด ตนพยายามจะผลักดันให้นโยบายนี้เสร็จเร็วที่สุด เพื่อวางแผนงบประมาณปี 2565 และนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณายกระดับคุณภาพของจังหวัดผ่านการศึกษาต่อไป
“ผมหวังว่าการดำเนินการตามนโยบายนี้ จะทำให้ก้าวข้ามความกังวลในเรื่องต่างๆ ได้ ในขณะเดียวกัน ศธ.พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น เพราะแต่ละจังหวัดต่างมีบริบทและมีความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งการเสนอความคิดเห็นนั้น ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง ผมอยากให้ทุกคนคำนึกว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลง เด็กและเยาวชนจะได้อะไร เด็กจะได้ความคุ้มค่า การศึกษาที่มีคุณภาพ และที่สำคัญที่สุดหากเรายกระดับคุณภาพของจังหวัดผ่านการศึกษาได้ จะเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีคุณภาพ และอาจจะตอบโจทย์อีกหลายอย่าง เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ครูและข้าราชการในพื้นที่ เป็นต้น” นายณัฏฐพล กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ประชุมมีข้อห่วงใยเรื่องความร่วมมือในการจัดทำนโยบายนี้ระหว่างกระทรวงที่จัดการศึกษา คือ ศธ. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ผ่านมาทั้ง 4 กระทรวง ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย แต่นโยบายการยกระดับคุณภาพของจังหวัดผ่านการศึกษานั้น ศธ.จะเป็นแม่งานในการสร้างโมเดลก่อน และหลังจากนั้นตนจะนำโมลเดลนี้ หารือกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ว่าแต่ละหน่วยงานจะเข้ามาช่วยเพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพได้อย่างไร ซึ่งในอนาคตตนมั่นใจว่าภาครัฐและเอกชน พร้อมที่จะร่วมมือถ้าได้เห็นแพลนงานที่ชัดเจน