การแปรรูป ปตท คืออะไร?
การแปรรูปที่พูดถึงนี้ หมายถึง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ การให้เอกชนมีส่วนในกิจการรัฐวิสาหกิจเพื่อลดภาระรัฐบาล ในประเทศไทยเองมีหลายองค์กรที่มีการแปรรูป อาทิ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น แต่บริษัทที่พี่วาฬจะพูดถึงในวันนี้ก็คือ อุตสาหกรรมด้านพลังงานของไทย อย่าง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่แปรรูปมาเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
หลายคนอาจจะเกิดความสงสัยว่าทำไมถึงเกิดการแปรรูป ปตท.? งั้นมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าฮะ
ประวัติ ความเป็นมาของ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2521 ตรงกับระยะที่ทั่วโลกกำลังเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลน (วิกฤติการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2 ) เริ่มต้นการดำเนินงานด้วยการจัดหาน้ำมันสนองความต้องการใช้ในประเทศให้เพียงพออย่างเร่งด่วน ภาระอันหนักหน่วงดังกล่าวได้เป็นแรงสนับสนุนให้ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยมุ่งจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศเพิ่มเติม เป็นผลให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงานได้ในระดับหนึ่ง ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง แปรรูป ปตท. คืออะไร?
ในช่วงปี พ.ศ. 2539 ประเทศไทยประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจหลายประการ อาทิ
- การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
- ปัญหาหนี้ต่างประเทศ
- การลงทุนเกินตัว และฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
- ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสถาบันการเงิน
- ความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย
- การโจมตีค่าเงินบาทด้วยการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ทำให้ทางการสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในการปกป้องค่าเงินบาทไปเป็นจำนวนมาก และเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือเรียกทั่วไปในประเทศไทยว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เป็นช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงิน ส่งผลกระทบถึงหลายประเทศในทวีปเอเชีย เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 ก่อให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจทั่วโลกเนื่องจากการแพร่ระบาดทางการเงิน จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจขอความช่วยเหลือ ทางการเงินและวิชาการจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) กว่า 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อประคองสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งสถานะลูกหนี้ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น ส่งผลให้เกียรติภูมิของประเทศลดลง ในการเจรจาต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
ทำไมรัฐต้องแปรรูป ปตท.
จุดประสงค์ของการแปรรูป ปตท. คือ เพื่อระดุมทุนจากตลาดหุ้น เพื่อหาเงินนำไปอุ้มธุรกิจโรงกลั่นกำลังจะล้มในยุค IMF เมื่อเข้าสู่การแปรรูปแล้วทำให้มีเงินนำส่งรัฐมากขึ้นในรูปภาษี และเงินปันผล สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม และสร้างความมั่นคง ทางด้านพลังงานให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ ปตท. มีความคล่องตัวในการบริหารงานมากขึ้น มีผลประกอบการดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อนแปรรูป ในที่สุดประเทศไทยก็ปลดล็อกหนี้ IMF สำเร็จ ก่อน 2 ปี!! และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ประวัติ ความเป็นมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (หลังการแปรรูป)
บริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน ) หรือ ปตท. จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 โดยการแปรรูป จากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยรับโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด สินทรัพย์ และพนักงานทั้งหมด ภายใต้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ปตท. มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,000 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท โดยได้ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก ในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2544 และมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ข้อดีของการแปรรูป ปตท.
ประโยชน์ที่ชาติจะได้รับจากการแปรรูปมีอยู่ 3 ข้อหลัก คือ
- เป็นการระดมทุนเพื่อไปแก้ไขปรับสถานการณ์การเงินบริษัทในเครือทั้งหลาย ของ ปตท. อาทิ นําเงินไปซื้อโรงกลั่น ทําให้โรงกลั่นเป็นของคนไทย หรือทำให้ ปตท. สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม และสร้างความมั่นคง ทางด้านพลังงานให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลดีต่อรัฐ เพราะรัฐจะได้ปันผลเป็นรายได้ ในรูปแบบต่างๆ กลับเข้าสู่รัฐมากขึ้น
- มีความคล่องตัวในการบริหารงาน ส่งผลให้มีผลประกอบการ ปตท. ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อนแปรรูป โดยในปี 2542-2555 กลุ่ม ปตท. ส่งรายได้ให้รัฐในรูปเงินปันผลและภาษีเงินได้รวมประมาณ 541,034 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำรายได้ให้กับรัฐมากที่สุด และ รัฐสามารถ นำเงินดังกล่าวไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศและคนไทยทุกคน อาทิ การศึกษา คมนาคม สาธารณสุข ฯลฯ
- เป็นการกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์ ดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ปตท. คือกระทรวงการคลัง ประมาณ 51.11% และที่เหลือถือหุ้นโดยนักลงทุนทั้งประเภทสถาบัน และรายย่อย ประชาชนคนไทยโดยทั่วไป ก็สามารถซื้อหุ้น ปตท. หรือ PTT เพื่อการลงทุนได้ และ ปตท.ไม่ถึงกับถือว่าเป็น “เอกชน” เพราะอย่างที่บอกไว้ว่า กระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นมากที่สุด
และสำหรับชาวพลังงานเลิฟเวอร์ที่อยากติดตามข่าวเทคโนโลยี องค์กรนวัตกรรม และความรู้พลังงานอื่นๆ เพิ่มเติม
สามารถติดตามได้ที่ www.whaleenergystation.com
Facebook Fanpage : www.facebook.com/whaleenergystation
Twitter: www.twitter.com/WhaleEnergy
Instagram: www.instagram.com/whaleenergystation/
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : รู้จริงพลังงานไทย.com, stock2morrow, ข่าวหุ้น, SET