เทรนด์ EV กำลังมาแรงผู้คนก็หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ปตท. ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า แล้วมันคืออะไร ในไทยมีที่ไหนบ้าง มาดูกันเลย
เทรนด์เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) คือเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ไม่ไกลเกินเอื้อม เป็นหัวข้อที่หลายๆ ประเทศกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งกระแสในไทยก็ไม่แพ้กันเลย ถึงแม้กระแสการตื่นตัวเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะมีมาก แต่จำนวน EV ที่วิ่งบนท้องถนนจริงกลับยังน้อยอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดระหว่างทางและหลายๆ คนก็ยังไม่รู้จักสถานีชาร์จรถไฟฟ้า
พี่วาฬจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจว่าสถานีชาร์จรถไฟฟ้าคืออะไร ทำไมถึงสำคัญต่ออนาคตของรถยนต์ไฟฟ้า และสถานีชาร์จรถไฟฟ้ามีที่ไหนบ้างในประเทศไทยของเรากันครับ
สถานีชาร์จรถไฟฟ้า EV Charger คืออะไร?
ความหมายของสถานีชาร์จรถไฟฟ้าหรือ EV Charging Station ก็มีตรงตามชื่อเลยครับ เพราะมีหน้าที่เป็นตัวชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่รถยนต์นั่นเอง สามารถเปรียบเทียบได้กับสถานีปั๊มน้ำมัน แต่เปลี่ยนจากเติมน้ำมันเป็นเติมประจุพลังงานไฟฟ้าแทน ซึ่งการชาร์จพลังงานให้กับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้านั่น จะแบ่งออกเป็น 2 วิธีดังนี้
1. Normal Charge
การชาร์จแบบปกติ เป็นการชาร์จด้วยไฟ AC โดยชาร์จผ่าน On Board Charger ที่อยู่ภายในตัวรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่ในการแปลงไฟ AC ไปเป็นไฟ DC โดยขนาดของ On Board Charger นั่นจะมีผลต่อระยะเวลาในการชาร์จไฟของแบตเตอรี่ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคันก็มีขนาดไม่เท่ากันครับ
2. Quick Charge
จะเป็นการชาร์จโดยใช้ตู้ EV Charging Station (สถานีชาร์จรถไฟฟ้า) ที่จะทำการแปลงไฟ AC ไปเป็นไฟ DC แล้วจ่ายไฟ DC เข้าที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง ไม่ผ่าน On Board Charger เหมือนกับ Normal Charge ซึ่งวิธีการชาร์จไฟฟ้า จะส่งผลให้ระยะเวลาที่ใช้ในการชาร์จลงน้อยลง
นอกจากเรื่องของวิธีการชาร์จแล้ว ประเภทของหัวจ่ายไฟฟ้า EV Charger ก็สำคัญเพราะมีแตกต่างกันมากถึง 3 แบบหลักๆ ซึ่งก็คือ AC(Type1/Type2), DC Chademo และ DC CCS โดยทั้งสามประเภทนั่นถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้กับหัวรับของรถไฟฟ้าแต่ละรุ่นที่มีต่างกันครับ
สถานีชาร์จไฟฟ้ามีความสำคัญอย่างไร?
แน่นอนว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นพลังงานสะอาด สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับมาตรการ นโยบายเรื่องการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานสะอาด อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นที่มีนโยบาย ตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 0 ในอีก 30 ปีข้างหน้า
ในขณะเดียวกันแบตเตอรี่ไฟฟ้าไม่สามารถเก็บพลังงานได้ทีละมากๆ ทำให้ยังไม่สามารถวิ่งในระยะทางไกลได้เท่ากับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ดังนั้นการจัดตั้ง EV Charging Station ไว้ในหลายจุดตามท้องถนนจึงสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้ผู้คนหันมาใช้รถไฟฟ้ากันมากขึ้น อย่างไรก็ตามทาง PTT ได้มีการจัดตั้งบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ On-I on Solutions เพื่อดำเนินการและพัฒนาเครือข่ายสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charging Station) นอกสถานีบริการน้ำมัน เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม หรืออาคารสำนักงาน เป็นต้น รวมถึงการจำหน่ายสินค้าและให้บริการที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้า เช่น จัดจำหน่ายและติดตั้ง EV Charger ในที่พักอาศัยอีกด้วยครับ เพื่อตอบโจทย์เรื่องระยะทางที่จำกัดของรถยนต์ไฟฟ้า
สถานีชาร์จรถไฟฟ้าในประเทศไทยมีที่ไหนบ้าง?
มาถึงจุดนี้หลายคนคงมีคำถามแล้วว่า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า มีที่ไหนบ้างในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้เปิดตัวให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ของกลุ่ม ปตท. ที่ดำเนินการในเชิงพาณิชย์เป็นรายแรก ปัจจุบัน ปตท. ได้ติดตั้ง EV Charging Station สถานีชาร์จรถไฟฟ้า พร้อมให้บริการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ฯ ไบเทค และ True Digital Park สุขุมวิท 101 เพื่ออำนวยความสะดวกสูงสุดแก่ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า
ปตท. เตรียมเปิดโรงงานแบตเตอรี่ EV
ปตท. วางเป้าหมายจะเป็นผู้นำทางด้านผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้งสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage: ESS) ในประเทศไทย โดยได้ร่วมมือกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ จีพีเอสซี (GPSC) ศึกษาทั้งแนวโน้มตลาดอุตสาหกรรมพลังงานและแนวทางการดำเนินงาน อีกทั้ง ปตท. จะเข้าร่วมผลิตรถไฟฟ้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุตสาหกรรมรถชาร์จไฟฟ้าเกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพ และราคาที่เหมาะสม ส่งผลให้ EV ในประเทศไทยมีราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ อุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย กระตุ้นให้เกิดการใช้และการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตรถยนต์สันดาป และเป็นฐานการผลิตอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้ว ยังต้องติดตามปริมาณการใช้รถไฟฟ้าในอนาคตว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับการลงทุน สำหรับการเข้าร่วมการผลิตรถไฟฟ้านั้นจะใช้ปัจจัยส่วนนี้เพื่อผลักดันประเทศให้ไปสู่ศูนย์การผลิตได้ง่าย โดยอยู่ระหว่างพิจารณาที่ต้องดูความชัดเจนของนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันยังมีแต่เอกชนที่ทำการนำเข้าเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็ว ๆ นี้
พี่วาฬหวังว่าทุกคนจะได้ทราบถึงความสำคัญของสถานีชาร์จรถไฟฟ้าหรือ EV Charging Station กันแล้วนะครับ ในประเทศไทยของเราเองนั้นก็กำลังมีการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอยู่อย่างมุ่งมั่น เพื่อเป็นการใช้พลังงานสะอาดรักษาโลกของเราให้น่าอยู่มากขึ้นนะครับ
ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล:
www.pmk.co.th, www.autospinn.com, brandinside.asia, www.kaohoon.com, chargerod.com
สำหรับชาวพลังงานเลิฟเวอร์ที่อยากติดตามข่าวเทคโนโลยี องค์กรนวัตกรรม และความรู้พลังงานอื่นๆ เพิ่มเติม
สามารถติดตามได้ที่ www.whaleenergystation.com
Facebook Fanpage: www.facebook.com/whaleenergystation
Twitter: www.twitter.com/WhaleEnergy
Instagram: www.instagram.com/whaleenergystation/