ถ้าพูดถึง Smart City จะนึกถึงอะไรกันบ้าง? สำหรับพี่วาฬเองจะนึกถึงเมืองที่ใช้เทคโนโลยีทั้งหมดมาเป็นส่วนช่วยในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะทำอะไรก็สะดวกสบายเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มารองรับ เทคโนโลยีเหล่านั้นยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อโลก ดีต่อเราสุด ซึ่งในปัจจุบัน มีเทคโนโลยี 5G เริ่มให้บริการในไทยแล้ว อีกไม่นานเทคโนโลยีสุดล้ำก็น่าจะมีให้เราใช้เป็นเรื่องปกติ เมืองอัจฉริยะจะเกิดขึ้นได้ Internet of Things หรือ IoT ก็มีเป็นส่วนสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาททั้งในด้านการใช้งานในชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการผลิตนวัตกรรมสักหนึ่งชิ้นก็ตาม เพราะเป็นการเชื่อมทุกสิ่งเข้าหากันผ่านอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
แล้วรู้ไหมว่าในประเทศไทยเอง ก็มีพื้นที่ที่ถูกพัฒนาให้เป็น Smart City เมืองอัจฉริยะนวัตกรรม วันนี้ พี่วาฬจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสมาร์ทซิตี้ในไทย หรือ วังจันทร์วัลเลย์ เมืองต้นแบบสุดอัจฉริยะ ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ จะมีพื้นที่อะไรบ้าง ไปดูกัน
จุดประสงค์ของการเป็น Smart City และการแบ่งพื้นที่ในวังจันทร์วัลเลย์
วังจันทร์วัลเลย์ : เมืองอัจฉริยะนวัตกรรมนี้ จุดประสงค์ของการก่อตั้งที่นี่ คือเป้าหมายให้เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งถูกกำหนดอยู่ในแผนการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยกระดับขีดความสามารถการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมให้แก่ทุกภาคส่วนของประเทศ และรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0
วังจันทร์วัลเลย์ ถูกพัฒนาในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform แบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่
- พื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) : ซึ่งมีพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์
- พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) : พื้นที่ที่จะพัฒนาเป็น ศูนย์วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด โดยออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการไว้อย่างครบวงจร
- พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัยและสันทนาการ (Community Zone) : พื้นที่ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยและสันทนาการ รองรับความเป็นอยู่ของนักวิจัยและครอบครัว นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการ ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติ โรงแรมและที่พักอาศัย ศูนย์การค้าและนันทนาการ
วังจันทร์วัลเลย์เป็น Smart City ที่สำคัญอย่างไรบ้าง?
ปัจจุบัน วังจันทร์วัลเลย์ ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะในไทย ด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมและแผนพัฒนาระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ครบทั้ง 7 ด้าน ประกอบด้วย
- Smart Environment
- Smart Energy
- Smart Economy
- Smart Governance
- Smart Mobility
- Smart People
- Smart Living
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ข้อมูล (Data Center) ส่วนกลาง และอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center : IOC) ซึ่งมีการวางโครงข่ายเชื่อมโยงกับระบบอัจฉริยะต่างๆ เพื่อบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ต่อยอดในเชิงธุรกิจ
วังจันทร์วัลเลย์ เป็นพื้นที่สำคัญเพราะเป็นเมืองอัจฉริยะที่มีผลต่อการผลิตนวัตกร (Innovator) ของประเทศ ที่ความสำเร็จคือการที่ ประเทศไทยจะไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยี ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของประเทศที่จะดึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาในพื้นที่ได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 30,000 ล้านบาท
เทคโนโลยี 5G กับการสนับสนุน Smart City ของภาครัฐและเอกชน
เมื่อไม่นานมานี้ ปตท. ร่วมกับพันธมิตร ได้เปิดพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อรองรับ 5G Play Ground และ UAV Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยี 5G ให้พร้อมสำหรับ Smart City ในการทดลอง ทดสอบ นวัตกรรมต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ให้รองรับ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) Regulatory Sandbox หรือ การทดลอง ทดสอบโดรน และระบบที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้สนใจทุกภาคส่วน โดยพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) : สนับสนุนให้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์สามารถบินโดรนเพื่อการทดลองและทดสอบได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และช่วยให้การอนุญาตปฏิบัติแตกต่างจากเงื่อนไขที่กำหนด
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) : บริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สนับสนุนการทดสอบ 5G ในพื้นที่ เพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะผู้บริหารจัดการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้การสนับสนุนการดำเนินการ UAV Sandbox ได้อย่างสะดวกและประสบความสำเร็จ ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี ทักษะ ความรู้ด้านการบินโดรนแก่กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ
สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) ทดสอบและ พัฒนาโดรนวิศวกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการบำรุงรักษาสินทรัพย์
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) : ทดสอบและพัฒนาโดรนลาดตระเวนติดกล้องที่ควบคุมและเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True5G เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของพื้นที่
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) (Dtac) : พัฒนาการทดสอบสู่กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ 5G สำหรับควบคุมจากทางไกลและถ่ายทอดข้อมูลความละเอียดสูง ให้การสั่งการรวดเร็วและภาพที่คมชัด
สำหรับชาวพลังงานเลิฟเวอร์ที่อยากติดตามข่าวเทคโนโลยี องค์กรนวัตกรรม และความรู้พลังงานอื่นๆ เพิ่มเติม
สามารถติดตามได้ที่ www.whaleenergystation.com
Facebook Fanpage : www.facebook.com/whaleenergystation
Twitter: www.twitter.com/WhaleEnergy
Instagram: www.instagram.com/whaleenergystation/
ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : engineeringtoday, ข่าวหุ้น, energynewscenter