บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ กัลฟ์ ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำร่องศึกษาแนวทางในการออกแบบระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีมิเตอร์อัจฉริยะ (Advanced Metering Infrastructure: AMI) เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าแบบอัจฉริยะ (Smart Grid) และการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer โดยจะนำระบบวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล Big Data เข้ามาใช้งาน มุ่งรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และการขับเคลื่อนพื้นที่ EEC ไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้
นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กัลฟ์ และ กฟภ. มุ่งหวังว่าการนำเทคโนโลยีมิเตอร์อัจฉริยะเข้ามาใช้บริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและมีระบบไฟฟ้าที่ซับซ้อน
นอกจากนี้ยังสอดรับกับแผนพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของภาครัฐและการเติบโตทางธุรกิจของกัลฟ์ โดยกัลฟ์มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี และเงินทุน อีกทั้งยังมีเครือข่ายกับซัพพลายเออร์ด้านเทคโนโลยีในธุรกิจพลังงานชั้นนำทั่วโลก ที่พร้อมจะร่วมพัฒนาและลงทุนในธุรกิจและโครงการที่ภาครัฐมีนโยบายให้การส่งเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่ระดับสากล ทั้งนี้ความร่วมมือกับ กฟภ. ในครั้งนี้จะทำให้กัลฟ์เข้าใจพฤติกรรมการใช้พลังงานในพื้นที่ EEC ได้มากขึ้น และจะทำให้กัลฟ์สามารถตอบสนองความต้องการและนำเสนอนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า “ระบบมิเตอร์อัจฉริยะตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์ กฟภ. พ.ศ. 2563-2567 ที่มุ่งสู่องค์กรที่เป็นเลิศในด้านจำหน่ายกระแสไฟฟ้าโดยบูรณาการทุกระบบงานด้วย Digitalization เพื่อเพิ่มความมั่นคงในระบบจำหน่าย และเสริมสร้างศักยภาพของ Smart Grid โดยระบบนี้จะช่วยให้การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในหลายๆ ด้าน เช่น การจ้างเหมาจดหน่วยมิเตอร์ การออกไปดำเนินการตัดต่อมิเตอร์ ลดการสูญเสียรายได้จากการลักลอบใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ชำรุด (Non-technical loss) ลดต้นทุนจากกำลังสูญเสียในขดลวดของมิเตอร์จานหมุนและความคลาดเคลื่อนในการอ่านหน่วยมิเตอร์ (Technical Loss) รวมทั้งลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) ของระบบ ทำให้สามารถชะลอการลงทุนในการเพิ่มกำลังการผลิตให้กับระบบไฟฟ้า ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนและการเชื่อมต่อกับแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กได้”
นอกจากนี้ระบบมิเตอร์อัจฉริยะจะแจ้งศูนย์ควบคุมแบบอัตโนมัติเมื่อมีเหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้อง ช่วยลดเวลาในการแก้ปัญหาและลดผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้ไฟฟ้าได้ตลอดเวลาแบบเรียลไทม์ และตรวจสอบบันทึกการใช้พลังงานไฟฟ้าย้อนหลังได้