เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เผยกลยุทธ์ธุรกิจปี 2564 มุ่งสู่ “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” (Chemical Business for Sustainability) ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Net Zero ภายในปี 2593 เปิดโรดแม็ปชูธง 4 แผนธุรกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขนทัพนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติก เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า เจ้าของแบรนด์สินค้า และผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อมั่นเป็นแนวทางธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกอย่างยั่งยืน พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในธุรกิจ
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เผยถึงแนวทางธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ว่า “ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เดินหน้าขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก และร่วมกับพันธมิตรองค์กร เครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และรณรงค์การจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น โครงการถนนพลาสติกรีไซเคิล โครงการรีไซเคิลแกลลอนน้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น
สำหรับในปี 2564 ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้วางโรดแม็ปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน 4 ด้านหลัก ได้แก่
1. การพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกและโซลูชัน โดยออกแบบให้สามารถรีไซเคิลได้ง่าย (Design for Recyclability) โดยยังคงคุณสมบัติด้านอื่นๆ ไว้อย่างครบถ้วน เช่น การพัฒนาโซลูชันสำหรับบรรจุภัณฑ์แบบ Mono-Material ออกแบบให้ชั้นแผ่นฟิล์มในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นวัสดุชนิดเดียวกันทั้งหมด จึงนำกลับมารีไซเคิลได้ง่าย นอกจากนี้ยังพัฒนาเทคโนโลยี SMXTM เพื่อให้เม็ดพลาสติกมีคุณสมบัติพิเศษ มีความแข็งแรงมากขึ้น จึงใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง และยังช่วยเพิ่มสัดส่วนเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มากขึ้น ทั้งนี้ การออกแบบนวัตกรรมเม็ดพลาสติกและโซลูชันต่างๆ คิดค้นและพัฒนาโดยทีม R&D ของเอสซีจี ซึ่งทำงานร่วมกับลูกค้าและเจ้าของแบรนด์สินค้า เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการสูงสุด
2. การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ PCR (Post- Consumer Recycled Resin) โดยนำพลาสติกที่ผ่านการใช้งานจากผู้บริโภคกลับมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกคุณภาพสูง สามารถสร้างคุณค่าให้ใช้งานได้อีก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเจ้าของแบรนด์สินค้าระดับโลก โดยได้พัฒนาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงร่วมกับคู่ค้าทางธุรกิจซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลระดับโลก เช่น SUEZ ผู้นำด้านการรีไซเคิลพลาสติกในยุโรป เป็นต้น
3. การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี (Chemical Recycling) โดยพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วกลับมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น หรือ Green Naphtha สำหรับโรงงานปิโตรเคมี ถือเป็นการหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ที่ต้นทางตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง Demonstration Unit คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564
4. การพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งเป็นกลไกในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกมาใช้งาน จึงช่วยลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน โดยร่วมกับเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพให้ตอบโจทย์การใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การพัฒนาฟิล์มสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นต้น