พี่วาฬมักจะได้ยินบ่อย ๆ ว่าอุตสาหกรรมด้านพลังงานของไทยถูกครอบงำด้วยทุนผูกขาด พี่วาฬรู้สึกงง ๆ เหมือนกันว่าทำไมจึงมีคนคิดเช่นนี้ เพราะหากจะเรียกว่าผูกขาด ก็แสดงว่ามีคนประกอบกิจการนั้นเพียงรายเดียวและเป็นเจ้าของตลาดทั้งหมด ซึ่งพี่วาฬยังไม่เห็นอะไรแบบนี้ในประเทศไทยเลย
ทุนผูกขาดคืออะไร ? ประเทศไทยมีแต่ทุนผูกขาดจริงหรือไม่?
จะว่าไป ความหมายคำว่า ทุนผูกขาด คือการที่ไม่มีการแข่งขันทางธุรกิจและการค้าใด ๆ เลย ซึ่งหากกิจการพลังงานของไทยเป็นทุนผูกขาดเช่นนั้นจริง เราคงไม่ได้เห็นการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยแน่ ๆ และทุนผูกขาดในไทยก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในประเทศของเราซึ่งมีระบบการค้าเสรี
แต่ก็นั่นแหละ พี่วาฬคิดว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปอย่างมาก ที่มองว่าธุรกิจใหญ่หลายกลุ่มในประเทศไทยเป็นทุนผูกขาด จึงทำให้มีคนจุดกระแสเรียกร้องให้มีการทลายทุนผูกขาดเพราะเชื่อว่าจะทำให้ไม่มีความเหลื่อมล้ำในการทำธุรกิจ แต่จริง ๆ การมีกลุ่มทุนธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ผสมผสานกันต่างหาก ที่จะทำให้ตลาดสินค้าและบริการนั้นเติบโตและขยายตัวได้ นอกจากจะสามารถสร้างการแข่งขันในด้านราคาทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายในราคาที่เหมาะสมแล้ว ยังสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ว่าใกล้หรือไกล ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่หรือในชนบท
พี่วาฬขอเคลียร์ให้ชัดว่า ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนั้น น่าจะมาจากการตีความหมายของคำว่า “ทุนใหญ่” มารวมกับ “การผูกขาด” เพราะจริง ๆ ในประเทศไทย “ทุนใหญ่” หมายถึงกลุ่มธุรกิจที่มีกำลังการลงทุนสูงระดับพันล้าน หมื่นล้าน หรือ แสนล้านบาท ซึ่งไม่ได้ “ผูกขาด” ธุรกิจใด ๆ เลย ลองดูอย่าง ธุรกิจค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า โอ้..ชื่อห้างมากมายผุดขึ้นมาเลยใช่ไหมครับ พี่วาฬก็ไม่เห็นว่าธุรกิจค้าปลีกจะเป็นทุนผูกขาดไปได้ ดูอีกตัวอย่างครับ ธุรกิจการเงิน เราก็มีธนาคารพาณิชย์หลายสิบแห่งทั้งธนาคารไทยและธนาคารต่างประเทศ ทุนใหญ่ที่สุดคือธนาคารกรุงเทพ ซึ่งพี่วาฬก็ไม่เห็นว่าธุรกิจการเงินคือทุนผูกขาดเช่นเดียวกัน
ประเทศของเรามีระบบเศรษฐกิจการค้าเสรีจึงเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาทำธุรกิจได้ หมายความว่า ทุนผูกขาดในไทยไม่มีแน่นอน เพราะทุกอุตสาหกรรมต้องมีการแข่งขัน แม้ว่าอุตสาหกรรมนั้นจะเป็นบริการด้านสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่จำเป็นต่อประชาชนที่รัฐบาลต้องควบคุมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่งมวลชน ปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน สถานีบริการ เป็นต้น ซึ่งแต่เดิมรัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดการให้บริการ แต่ด้วยระบบการค้าเสรีและเพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงเปิดให้ผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาแข่งขันกันได้ภายใต้กฎกติกาที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดที่เรียกว่าสัมปทาน ซึ่งมีกำหนดของระยะเวลาสัมปทาน ประเภทของสัญญา และอัตราการนำส่งรายได้จากการจัดเก็บภาษี การแบ่งปันผลประโยชน์ทางการค้าและผลกำไรกลับคืนสู่รัฐ เป็นต้น
แล้วธุรกิจพลังงานในไทยคือ “ทุนผูกขาด” จริงเหรอ?
อย่างอุตสาหกรรมพลังงาน หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่ากลุ่ม ปตท. นั้นผูกขาดด้านพลังงาน เช่น เป็นเจ้าของโรงกลั่นแต่เพียงผู้เดียว เป็นเจ้าของสถานีบริการ และเป็นกลุ่มกิจการปิโตรเคมีรายเดียวของไทย จริง ๆ แล้วกิจการด้านพลังงานของกลุ่ม ปตท. เป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้ระบบเศรษฐกิจและการค้าเสรี ปตท. มีคู่แข่งทางธุรกิจในทุกกิจการ ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่น ก๊าซธรรมชาติ สถานีบริการ และธุรกิจปิโตรเคมี และยังสนับสนุนกลไกตลาดหลักทรัพย์ให้ประชาชนไทยสามารถลงทุนและเป็นเจ้าของอีกด้วย
สถานีบริการในประเทศไทยเป็นของใครบ้าง?
อีกหนึ่งธุรกิจพลังงานที่คนเข้าใจกันผิดมากเรื่องทุนผูกขาดและชอบต่อว่ากันบนโลกออนไลน์ จะเป็นใครไปไม่ได้ก็คือธุรกิจสถานีบริการนั่นเอง ซึ่งพี่วาฬขอยืนยันว่าไม่มีทุนผูกขาดในธุรกิจนี้แน่นอน เพราะถ้าเพื่อน ๆ สังเกตดี ๆ ก็จะพบว่า สถานีบริการทั่วประเทศมีหลายแบรนด์ แต่ละแบรนด์ทำธุรกิจแข่งกันไม่ว่าจะแข่งเรื่องราคาขายปลีกน้ำมันแต่ละชนิด แข่งกันขยายจำนวนสถานี แข่งในเรื่องการให้บริการ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขับขี่ยานพาหนะ
จากที่พี่วาฬสำรวจดูแล้วพบว่า มีสถานีบริการอยู่ 6 แบรนด์ ที่เพื่อน ๆ น่าจะคุ้นชื่อกันอยู่บ้าง เป็นธุรกิจของคนไทย 4 แบรนด์ ต่างชาติ 2 แบรนด์ ได้แก่ พีทีที สเตชั่น บางจาก พีที ซัสโก้ คาลเท็กซ์ และเชลล์ รู้แบบนี้แล้วจะตีขลุมว่าธุรกิจสถานีบริการเป็นธุรกิจทุนผูกขาดด้านพลังงานได้อย่างไรกัน พี่วาฬไม่เข้าใจจริง ๆ
เอาล่ะ ! มาดูกันหน่อยว่าแบรนด์ไหนเป็นของคนไทย แบรนด์ไหนเป็นของต่างชาติ เริ่มที่ของคนไทยก่อน เบอร์หนึ่งก็คือ PTT Station หรือที่เรียกติดปากกันว่า ปั๊ม ปตท. ดำเนินการโดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ มีจำนวนประมาณ 2,203 สถานี มากที่สุดและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ อันนี้ต้องบอกก่อนว่า แม้ โออาร์ จะดำเนินงานแบบบริษัทมหาชนแต่ก็มีสถานะเป็นหน่วยงานในกำกับของภาครัฐด้วย คือ กระทรวงพลังงาน และหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของสถานีบริการของโออาร์ ก็คือ การให้บริการประชาชนให้ครอบคลุมมากที่สุดในราคาที่เป็นธรรม ดังจะเห็นว่าราคาน้ำมันขายปลีกหน้า PTT Station เสมือนผู้รักษาสมดุลราคาตลาด ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันของแบรนด์อื่น ๆ อยู่ในระดับเดียวกับ PTT Station ด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแบรนด์ไหนจะขายต่ำกว่าหรือสูงกว่าก็ไม่มีข้อห้าม ไม่ผิดกฎหมายใด ๆ เพราะนี่คือการแข่งขันโดยเสรีไม่มีการผูกขาดหรือการครอบงำตลาดเพียงรายเดียวตามความหมายของทุนผูกขาดที่บอกไว้ข้างต้น
แบรนด์ต่อมาคือ บางจาก เป็นการดำเนินงานของเอกชนไทย คือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีจำนวนสถานีบริการประมาณ 1,300 แห่ง และเพิ่มเป็นเกือบ 2,200 แห่ง ภายหลังการเข้าซื้อกิจการในไทยของเอสโซ่ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
อีกแบรนด์ที่เป็นของคนไทย 100% ก็คือ พีที ดำเนินงานโดย บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) มีจำนวนสถานีใกล้เคียงกับ PTT Station คือประมาณ 2,200 แห่ง และสุดท้ายคือ ซัสโก้ จำนวนประมาณ 200 แห่ง แม้แบรนด์นี้จะเคยร่วมธุรกิจสถานีบริการกับทุนต่างชาติอย่างสหรัฐฯ และเคยร่วมธุรกิจกับปิโตรนาส ทุนพลังงานจากมาเลเซีย แต่ท้ายสุดตอนนี้ซัสโก้ก็ยืนหยัดเป็นกิจการน้ำมันของคนไทยโดยเน้นขยายสถานีบริการในต่างจังหวัด
สำหรับสถานีบริการต่างชาติอีกสองแบรนด์ นอกเหนือจากเอสโซ่ที่บางจากซื้อไปแล้ว คือ คาลเท็กซ์ (สัญชาติอเมริกัน) มีจำนวนสถานีประมาณ 400 แห่ง และ เชลล์ (สัญชาติอังกฤษ) มีจำนวนสถานีกว่า 690 แห่ง รวมจำนวนโดยประมาณก็ราว ๆ 1,100 แห่ง
จากข้อมูลทั้งหมดที่พี่วาฬสรุปมาให้ ทีนี้เชื่อพี่วาฬหรือยังว่า ทุนผูกขาดกลุ่มธุรกิจพลังงานนั้นไม่มีจริงในประเทศไทย และการแข่งขันเสรีในอุตสาหกรรมพลังงานมีข้อดีตรงที่ทำให้คนไทยมีทางเลือกมากมายเลยนะ
—————————————-
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.longtunman.com/44611
https://thestructure.live/ptt-brand-thai/
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1051294
https://investor.sprc.co.th/th/shareholder-information/shareholder-structure
https://www.longtunman.com/35356
https://www.longtunman.com/43934
https://www.moneylabstory.com/9388
https://www.kaohoon.com/column/268282