ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้ทันยุคดิจิทัลแล้วล่ะก็ พี่วาฬขอชวนเพื่อน ๆ มารู้จักกับบริษัท เมฆา วี จำกัด บริษัทที่เมื่อได้ยินชื่อก็จะนึกถึงเรื่องเทคโนโลยีล้ำ ๆ อย่าง Cloud Innovation นึกถึงเรื่องราวของ AI ที่ถูกนำไปใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่อีวี และแน่นอนมีเรื่องของพลังงานหมุนเวียนที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าซื้อขายใช้สอยกันในแวดวงอุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย
“เมฆา วี” คือใคร?
ได้ยินชื่อ เมฆา วี (Mekha V) หลายคนอาจคิดว่าคงต้องเกี่ยวอะไรกับเมฆบนท้องฟ้าแน่ ๆ เอาเป็นว่าชื่อนี้เกี่ยวข้องกับระบบคลาวด์ (Cloud ที่แปลว่าเมฆนั่นเอง) “เมฆา วี” คือ ผู้ให้บริการด้านคลาวด์ อินโนเวชัน (Cloud Innovation) และเป็นธุรกิจเรือธงใหม่ล่าสุดด้าน AI, Robotics & Digitalization ของกลุ่ม ปตท. โดยเป็นการลงทุนในธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากพลังงานของ ปตท. (Future Energy and Beyond) นั่นเอง
เมฆา วี เริ่มดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2565 เกิดจากการควบรวมกิจการ 2 บริษัท คือ บริษัท เมฆา เทคโนโลยี จำกัด (Mekha tech) กับบริษัท รีแอค จำกัด (ReAcc) ได้ชื่อใหม่เป็น เมฆา วี โดยรวมเอาธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งเมฆา เทค มีความเชี่ยวชาญทั้งในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) ระบบตรวจจับ (AI detection) และคลาวด์ เซิร์ฟเวอร์ (cloud server) มาผนวกกับธุรกิจจัดหาโซลูชั่นด้านพลังงานสีเขียวของรีแอค ซึ่งมีบริการหลากหลาย และการเป็นพันธมิตรธุรกิจให้กับบริษัทที่มีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของ เมฆา วี โดยเน้นให้บริการด้านเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติด้านพลังงานที่จะช่วยลูกค้าหาแนวทางสู่ความยั่งยืนมาทดแทนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ที่ผ่านมา เมฆา วี ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของธุรกิจต่าง ๆ ได้แก่ แพลตฟอร์ม CarbonNote ช่วยให้ความสะดวกในการจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นต์อย่างถูกต้อง แพลตฟอร์ม ReAcc สำหรับการซื้อขายใบรับรองเครดิตพลังงานหมุนเวียนครบวงจรตามมาตรฐาน I-REC (The International REC Standard ประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่วนในประเทศไทย ผู้ให้การรับรอง REC อย่างเป็นทางการคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) เพื่อลดการปล่อย GHG Scope 2 คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานโดยการซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร ได้แก่ ไฟฟ้า ความร้อน ความเย็น และไอน้ำ เป็นต้น และแพลตฟอร์ม eXep ช่วยบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับองค์กรนั้น
พี่วาฬขอเพิ่มเติมไว้ตรงนี้ว่า ความเชี่ยวชาญของ เมฆา วี ในเทคโนโลยีคลาวด์นั้น เริ่มมาจากการทำงานให้กับกลุ่ม ปตท. เพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในกลุ่มบริษัทและสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างดีเยี่ยม จึงได้ขยายการทำงานของระบบคลาวด์ไปสู่การสร้างฐานข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลรวมถึงนำไปพัฒนาเครื่องมือแอปพลิเคชันที่ทันสมัยมีความเร็วและดีขึ้นกว่าเดิม โดย เมฆา วี ได้เลือกใช้เทคโนโลยีคลาวด์ของไมโครซอฟท์ในการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาโซลูชั่นเพื่อตอบรับความต้องการของธุรกิจที่มีความหลากหลายและกลายมาเป็น 5 บริการด้านเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ ซึ่งพี่วาฬจะเล่าให้ฟังในฉบับย่อเพื่อชี้ให้เห็นความเป็นธุรกิจดาวรุ่งของ เมฆา วี ที่สามารถรองรับและต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวกับ New S Curve ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการทำธุรกิจ หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าของกลุ่ม ปตท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบข่ายการทำงานของ เมฆา วี ในบริการด้านเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ มีดังนี้
1.PowerTECH เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ บริการด้านนี้กำลังมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดย เมฆา วี ให้บริการอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการช่วยจัดหาโซลูชั่นมาทดแทนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของธุรกิจ นอกจากนี้ เมฆา วี ยังให้บริการการติดตั้ง Solar Monitoring การทำ Analysis และ Optimization เพื่อให้แสดงผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ และนำข้อมูลไปปรับการทำงานของโซลูชั่นให้เหมาะสมต่อไป
2.MobilityTECH เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติส่วนประกอบของรถยนต์อัจฉริยะ เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นบริการที่สนับสนุนธุรกิจของ บริษัท อรุณพลัส จำกัด (ARUN PLUS) ซึ่งกลุ่ม ปตท. ได้ลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เป็นการปูทางการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสะอาดทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคการเดินทางและการขนส่งของไทย
3.HealthTECH เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติทางการแพทย์ระยะไกล (Telemedicine) ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ช่วยคัดกรองความเจ็บป่วยในเบื้องต้นก่อนที่ผู้ป่วยจะไปถึงมือแพทย์ เทคโนโลยีนี้ช่วยลดความแออัดในการเข้ารับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลและเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนได้อีกระดับ
4.IndustrialTECH เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติโดยการผสมผสานเทคโนโลยีที่ธุรกิจนั้น ๆ มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการใช้อุปกรณ์อัจฉริยะและ IoT (Internet of Things หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของสิ่งของ) เช่น การนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาเป็นผู้ช่วยในสายการผลิต การประมวลและจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ การนำเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงมาปรับใช้ในรูปการวางโครงสร้างแบบจำลอง หรือการขึ้นรูปงานในระบบ 3 มิติ รวมไปถึงระบบการเก็บรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Cybersecurity)
5.CreativeTECH บริการเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล เช่น เทคโนโลยี 3D Model สำหรับพัฒนาอี-สปอร์ต เทคโนโลยี VR เทคโนโลยี AR ใช้ในงานศิลปะและนิทรรศการออนไลน์ พูดง่าย ๆ ว่า เมฆา วี จะใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาสนับสนุนสิ่งใด ๆ ก็ตามที่จัดเป็น Soft Power ของไทยให้ก้าวไกลไปสู่เวทีการค้าสากลได้นั่นเอง
นี่แหละการลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่และธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากพลังงานของ ปตท. จะมีส่วนช่วยสร้างความเปลี่ยนขนานใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจพลังงานสะอาด มาถึงตอนนี้ พี่วาฬมองภาพอนาคตได้ชัด ๆ ว่า ต่อไปเมื่อกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยต่างปรับตัวไปสู่การใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติทั้งหมด สิ่งที่สังคมและประเทศชาติจะได้รับกลับคืนมา นอกเหนือไปจากเป็นการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทันยุคแล้ว ยังจะทำให้เกิดกระบวนการผลิตที่มีการหมุนเวียน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คือมีการประหยัดพลังงาน ประหยัดเวลา ใช้แรงงานน้อยลง กระบวนการผลิตมีความถูกต้องแม่นยำ ลดการเกิดของเสียในกระบวนการผลิตได้มากและช่วยลดมลพิษที่จะปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อม การดำเนินงานของ เมฆา วี จึงถือเป็นฟันเฟืองอีกตัวหนึ่งที่มีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนให้การพัฒนาธุรกิจ และอุตสาหกรรมของไทย
———————————–
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=potPJ0qwaLg
https://thestandard.co/ptt-mekha-v-whaup-renex-technology/
https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-40865.aspx
https://readthecloud.co/reacc/
https://egc.egat.co.th/rec-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/
https://petromat.org/home/recs/
https://blockfint.com/blog/difference-between-renewable-energy-certificate-and-carbon-credit