ก๊าซธรรมชาติ

พี่วาฬพาไปรู้จักโรงแยกก๊าซที่ใหญ่ที่สุดที่เปิดดำเนินการในปี 54 มีความปลอดภัยแค่ไหนกันนะ

Pinterest LinkedIn Tumblr

พี่วาฬพาไปรู้จักโรงแยกก๊าซที่ใหญ่ที่สุดที่เปิดดำเนินการในปี 54 มีความปลอดภัยแค่ไหนกันนะ, Whale Energy Station

วันนี้พี่วาฬมีเรื่องน่าสนใจมาแชร์ให้กับเพื่อน ๆ อีกแล้วครับ หลายคนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยงานก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ  พี่วาฬเลยไปทำการบ้าน และสรุปเนื้อหามาเล่าให้เพื่อน ๆ เข้าใจไปพร้อม ๆ กันครับ

เริ่มต้นที่ว่า “โรงแยกก๊าซธรรมชาติ” คืออะไร? และมีประโยชน์อย่างไรกับพวกเราทุกคน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ คือ สถานที่แยกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดต่าง ๆ ออกจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เพื่อผลิตก๊าซหุงต้ม เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และเชื้อเพลิงในยานยนต์ รวมถึงเพื่อเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น

งานวางฐานรากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ

พี่วาฬขอพาไปรู้จักโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ของ ปตท. จังหวัดระยอง  ที่ได้จัดพิธีเปิดไปเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เป็นโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน มาพร้อมกำลังการแยกก๊าซธรรมชาติที่มากที่สุด  ที่จะช่วยให้ประเทศสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติด้วยการนำผลิตภัณฑ์ไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลาย ที่สามารถต่อยอดไปในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายประเภท เช่น เครื่องบรรจุภัณฑ์อาหาร ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ สายไฟและเคเบิล และเครื่องใช้ภายในครัวเรือน ฯลฯ โดยนอกจากจะช่วยลดภาระการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงานในประเทศอีกด้วย

สำหรับในประเด็นมาตรฐานการก่อสร้าง  เรามาเริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจเรื่องการวางฐานรากก่อนว่า คืออะไร?

ฐานราก คือ โครงสร้างทางวิศวกรรมทำหน้าที่รับน้ำหนักจากโครงสร้างทั้งหมดแล้วถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาเข็มหรือดินโดยตรง โดยคุณสมบัติของดินควรมีความสามารถรองรับน้ำหนักได้โดยไม่เกิดการเคลื่อนตัวหรือพังทลายของดินใต้ฐานรากและต้องไม่เกิดการทรุดตัวลงมากจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โครงสร้าง โดยทั่วไปมี 2 ประเภท คือ

  1. ฐานรากแบบลึก คือ ฐานรากเสาเข็ม เหมาะกับการก่อสร้างบนดินอ่อน ไม่สามารถรับน้ำหนักโครงสร้างได้ จึงใช้วิธีถ่ายน้ำหนักโครงสร้างลงสู่ดินแข็งชั้นล่างด้วยเสาเข็ม ที่ระดับความลึกประมาณ 3 เมตรเป็นต้นไป
  2. ฐานรากแบบตื้น หรือแบบไม่มีเสาเข็มรองรับ เช่น ฐานรากแบบแผ่ ซึ่งวางอยู่บนชั้นดินโดยตรง จะใช้เมื่อเนื้อดินที่ระดับความลึกประมาณ 2-3 เมตรมีความแน่น แข็งแรงพอจะรับน้ำหนักโครงสร้างได้ดี และมีการทรุดตัวไม่มากกว่าข้อกำหนดทางวิศวกรรม ไม่จำเป็นต้องใช้เสาเข็ม

ซึ่งการวิเคราะห์ดินก่อนการก่อสร้าง จะมีการเก็บตัวอย่างดินตลอดความลึก 20 – 30 เมตร ทุก ๆ ระยะความลึก 1.50 เมตร ทั่วพื้นที่ก่อสร้าง  พี่วาฬบอกเลยว่าตรวจกันละเอียดสุด ๆ  พอได้ตัวอย่างดินทั้งหมดมาแล้วจะทำการส่งไปยังห้องแล็บปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบคุณภาพดินที่ได้มาทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร คุณภาพดีไหม เพื่อนำไปออกแบบฐานรากให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน วสท. และมาตรฐานสากล American Concrete Institute (ACI)

กรณีโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ผลการเจาะสำรวจและวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน พบว่าสภาพดินบริเวณที่ก่อสร้างนั้นเป็นดินแน่นถึงแน่นมาก (SC : Dense up to Very Dense Clayey Sand) และดินแข็งถึงแข็งมาก (CL: Stiff to Hard Sandy Clay)  ผู้เชี่ยวชาญด้านปฐพีกลศาสตร์ และวิศวกรรมฐานราก จากบริษัท กรุงเทพฯ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนด์ จำกัด ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกร  และรับรองผลวิเคราะห์โดยวิศวกรชั้นสูงสุด คือ วุฒิวิศวกร ว่าสิ่งปลูกสร้างบริเวณนี้สามารถใช้ได้ทั้งฐานรากแบบตื้นและฐานรากแบบลึก  ทำให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 เลือกใช้การวางฐานรากทั้งแบบใช้เสาเข็มและแบบไม่ใช้เสาเข็มนั่นเอง

โดยบริเวณที่ใช้ฐานรากแบบตื้นหรือไม่มีเสาเข็ม ผู้ออกแบบ คือ บริษัทซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้ทำการปรับปรุงคุณภาพดินในพื้นที่ โดยขุดลอกดินอ่อน หรือวัสดุที่ไม่เหมาะสมสำหรับรองรับฐานรากออก  แล้วนำวัสดุที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่า นั่นคือ “หินคลุก” มาถมกลับแล้วบดอัดด้วยเครื่องบดอัดขนาดใหญ่  เพื่อให้มีความแน่นตามข้อกำหนดและมาตรฐานทางวิศวกรรม จากนั้นจึงทำการทดสอบความหนาแน่นของการบดอัดและทดสอบการรับน้ำหนักของดินว่าเป็นไปตามการออกแบบตามมาตรฐานจริง ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า ดินที่รองรับโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยสูงสุด

 

ที่มาของข้อมูล

https://www.facebook.com/481188075237474/photos/a.708820885807524/3751289978227251/?type=3

https://mgronline.com/business/detail/9540000115720

https://www.eppo.go.th/images/Infromation_service/Publication/Knowledge/CNG%20NGV.pdf

http://pttinternet.pttplc.com/csc_gas/csc_ind/information/inplant.asp

https://www.netenergy-tech.com/doc/knowledge/neg.pdf

https://www.youtube.com/watch?v=KpE0folrI5o

https://anyflip.com/mnplj/xwch/basic