🛢 สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 26-30 มิ.ย. 66 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 3-7 ก.ค. 66
✔ ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดเฉลี่ยลดลงกว่า 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยนักลงทุนกังวลต่ออุปสงค์พลังงานโลกที่อาจชะลอการฟื้นตัว หากธนาคารกลางรายใหญ่ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
✔ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศส่งสัญญาณชะลอตัวในเดือน มิ.ย. 66 อาทิ S&P Global รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ของเกาหลีใต้ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.6 จุด อยู่ที่ 47.8 จุด ลดลงติดต่อกัน 3 เดือน และ Jibun Bank/Markit รายงาน Manufacturing PMI ของญี่ปุ่นลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.8 จุด อยู่ที่ 49.8 จุด และ Caixin รายงาน Manufacturing PMI ของจีนลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.4 จุด อยู่ที่ 50.5 จุด ทั้งนี้ PMI ต่ำกว่า 50 จุดบ่งชี้ภาวะถดถอยและสูงกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะขยายตัว
✔ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีรัสเซีย นาย Vladimir Putin ลงนามขยายระยะเวลามาตรการห้ามขายน้ำมันให้กับประเทศที่จำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย (Price Cap) ไปจนถึงสิ้นปี 2566 หลังจากใช้มาตรการดังกล่าวมาเป็นเวลา 5 เดือน เพื่อตอบโต้กลุ่ม G7 ซึ่งกำหนด Price Cap น้ำมันดิบของรัสเซียที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูป (ซึ่งราคาสูงกว่าน้ำมันดิบ) ที่ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
✔ คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยความไม่แน่นอนในสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในยุโรปในระยะยาว หลังหัวหน้ากองทหารรับจ้างแวกเนอร์ (Wagner) นาย Yevgeny Prigozhin ซึ่งเป็นกบฏต่อรัฐบาลรัสเซีย ขอลี้ภัยอยู่ในเบลารุส
🛢 ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
➖ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณในงาน ECB Forum on Central Banking 2023 ที่เมือง Sintra ประเทศโปรตุเกส ว่า Fed อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม 2 ครั้งติดต่อกัน จากระดับปัจจุบันที่ 5%-5.25% เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง
➖ บนเวทีเดียวกัน ประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) นาง Christine Lagarde ส่งสัญญาณสอดคล้องกับ Fed ว่า ECB อาจจะปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในการประชุมวันที่ 27 ก.ค. 66 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อเช่นกัน
➖ ประธานองค์กรปิโตรเลียมของญี่ปุ่น (PAJ) นาย Shunichi Kito เผยว่าซาอุดีอาระเบียยังคงส่งมอบน้ำมันดิบแบบสัญญาระยะยาว (Term) ให้โรงกลั่นญี่ปุ่นในเดือน ก.ค. 66 เต็มตามจำนวนที่เรียกขอ แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปริมาณ 1 MMBD ในเดือน ก.ค. 66 ทั้งนี้ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียในช่วง ม.ค.- เม.ย. 66 คิดเป็น 41.4% (1.12 MMBD) ของปริมาณที่นำเข้าทั้งหมด
🛢 ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
➕ Bloomberg รายงานรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบทางทะเล สัปดาห์สิ้นสุด 25 มิ.ย. 66 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 2.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากท่าส่งออกปิดซ่อมบำรุง
➕ EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 23 มิ.ย. 66 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 453.7 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน