🛢 สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 15 – 19 ส.ค. 65 และแนวโน้ม 22 – 26 ส.ค. 65
✔ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ล่าสุดลดลงกว่า 2-3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยนักลงทุนวิตกต่อนโยบายการเงินที่เข้มงวด อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และถดถอย กดดันอุปสงค์พลังงาน
✔ บันทึกการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ล่าสุด (26-27 ก.ค. 65) ตอกย้ำว่า FOMC มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป วันที่ 20-21 ก.ย. 65 โดยผู้ร่วมประชุมเน้นว่าการชะลออุปสงค์มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยควบคุมเงินเฟ้อ แม้จะยังมีความเห็นต่างในรายละเอียด อาทิ “ระดับดอกเบี้ย” และ “ระยะเวลา” ที่เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า ขณะที่ค่าเงินยูโรลดลง
✔ ด้านปัจจัยพื้นฐานนักวิเคราะห์ FGE คาดการณ์อุปทานน้ำมันโลกมีแนวโน้มตึงตัวจนถึงปลายปีนี้ เนื่องจากสหภาพยุโรปต้องจัดหาน้ำมันดิบด้วยเรือขนส่งทางทะเล (Seaborne) จากแหล่งต่าง ๆ นอกเหนือจากรัสเซีย
🛢 ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
➖ สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในเดือน ก.ค. 65 ลดลง 8.8% จากปีก่อน อยู่ที่ 12.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่ มี.ค. 63
➖ EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ ในสัปดาห์สิ้นสุด 12 ส.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคาดการณ์ปริมาณการผลิต Shale Oil จาก 7 แหล่งผลิตใหญ่ ในเดือน ก.ย. 65 จะเพิ่มขึ้น 141,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 9.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ มี.ค. 63
➖ การเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์มีความคืบหน้า หากอิหร่านและสหรัฐฯ ยอมรับข้อเสนอจาก EU ซึ่งจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ทำให้อุปทานน้ำมันเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อิหร่านมีประเด็นเรียกร้องให้สหรัฐฯ รับรองว่าจะไม่ถอนตัวจาก JCPOA อีกในอนาคต
🛢 ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
➕ Gazprom รัฐวิสาหกิจก๊าซธรรมชาติของรัสเซียประกาศหยุดดำเนินการท่อก๊าซฯ Nord Stream 1 เพื่อซ่อมบำรุงฉุกเฉินสถานีเพิ่มแรงดัน ในช่วง 31 ส.ค.- 2 ก.ย. 65 และหากเสร็จสิ้น จะกลับมาส่งก๊าซฯ ในอัตราเดิม ที่ 33 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน