มีใครสงสัยกันบ้างไหมว่า…ประเทศไทยมีบ่อน้ำมันไหม? แล้วแหล่งปิโตรเลียมหรือจุดผลิตน้ำมันล่ะประเทศไทยมีเหมือนประเทศอื่นหรือเปล่า? ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่โดดเด่นเรื่องการส่งออกน้ำมันหรือการมีแหล่งน้ำมันดิบในประเทศไทยที่มีมากมาย หรือมีพื้นที่และกำลังการขุดเจาะน้ำมันจนสามารถเรียกได้ว่าเป็นขุมทรัพย์น้ำมันดิบในประเทศไทยเหมือนประเทศอื่นๆ แต่เราเองก็มีแหล่งน้ำมันในประเทศอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ไหนบ้าง มาดูพร้อมๆ กันเลย
แหล่งน้ำมันในประเทศไทยมีที่ไหนบ้าง ?
แหล่งขุดเจาะน้ำมันภาคพื้นดิน
- แหล่งขุดเจาะอำเภอฝาง เชียงใหม่ ผลิตน้ำมันดิบ 1,400 บาร์เรลต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะอำเภอนํ้าพอง ขอนแก่น ผลิตน้ำมันดิบ 70 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะอำเภอกุงศรี กาฬสินธุ์ ผลิตก๊าซธรรมชาติ 10 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะอำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ผลิตก๊าซธรรมชาติ 4 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะอำเภอลานกระบือ กำแพงเพชร, อำเภอคีรีมาศ, อำเภอกรงไกรลาศ สุโขทัย และอำเภอบางระกำ พิษณุโลก ผลิตน้ำมันดิบ 30,000 บาร์เรลต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะอำเภอวิเชียรบุรี, อำเภอศรีเทพ เพชรบูรณ์ ผลิตน้ำมันดิบ 2,200 บาร์เรลต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะอำเภอเมือง, อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี ผลิตน้ำมันดิบ 350 บาร์เรลต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะอำเภอกำแพงแสน นครปฐม ผลิตน้ำมันดิบ 500 บาร์เรลต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะอำเภอน้ำพอง ขอนแก่น ผลิตก๊าซธรรมชาติ 15 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะอำเภอหนองแสง อุดรธานี ผลิตก๊าซธรรมชาติ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซธรรมชาติเหลว 450 บาร์เรลต่อวัน
แหล่งขุดเจาะน้ำมันภาคพื้นทะเล
- แหล่งขุดเจาะจัสมินและบานเย็น ผลิตน้ำมันดิบ 12,000 บาร์เรลต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะบัวหลวง ผลิตน้ำมันดิบ 7,400 บาร์เรลต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะสงขลา ผลิตน้ำมันดิบ 17,500 บาร์เรลต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะเอราวัณ บรรพต ปลาทอง สตูล และแหล่งไพลิน ผลิตน้ำมันดิบ 30,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณ 34,000 บาร์เรล และก๊าซธรรมชาติประมาณ 1,000 ล้านฟุตต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะทานตะวัน ผลิตน้ำมันดิบ 25,000 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 130 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะบงกช ผลิตก๊าซธรรมชาติ 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซธรรมชาติเหลว ประมาณ 10,000 บาร์เรลต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะนางนวล ผลิตนํ้ามันดิบในอัตรา 2,900 บาร์เรลต่อวัน
- แหล่งขุดเจาะอาทิตย์ ผลิตก๊าซธรรมชาติ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 11,500 บาร์เรลต่อวัน
(ข้อมูลจาก www.stopgulfoildisaster.org ในวันที่ 31 มีนาคม 2020)
แหล่งน้ำมันในประเทศมีเยอะ แต่ทำไมผลิตน้ำมันใช้เองได้น้อย?
ต้องบอกให้เพื่อนๆ เข้าใจก่อนว่า น้ำมันที่ใช้ปัจจุบันมีหลายประเภท ถึงแม้ประเทศไทยจะมีแหล่งน้ำมันในประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันเองได้ แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าน้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมานั้น ต้องผ่านการกลั่นกรองน้ำมันออกมาก่อนที่จะสามารถนำไปใช้งานได้ น้ำมันดิบบางสถานที่ขุดเจาะจะมีค่าโลหะหนักที่ปนเปื้อนสูงมาก โรงงานกลั่นของไทยเรายังไม่สามารถกลั่นมาใช้ได้ทั้งหมด ทำให้ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงมีแหล่งน้ำมันในประเทศมีเยอะ แต่ผลิตเองใช้ได้น้อย
สาเหตุที่ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่สามารถส่งออกได้
อย่างที่พี่วาฬได้บอกไปข้างต้นแล้วว่า น้ำมันที่ผลิตได้ภายในประเทศไทยมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในชีวิตประจำวัน และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้า ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการขนส่ง และการใช้ในการขับขี่รถยนต์ภายในครัวเรือน จากข้อมูลปี 2564 ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียง 100,874 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น แต่ความต้องการใช้พลังงานต่างๆ ภายในประเทศจะอยู่ประมาณ 2,016,000 บาร์เรลต่อวัน ทางด้านอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานได้เผยมาอีกด้วยว่า เพียงแค่ในเดือนมกราคม 2565 มีการบริโภคน้ำมันในภาพรวมเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 20.9% เลยนะทุกคน แบ่งเป็นกลุ่มน้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11.8% กลุ่มน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 24.4% กลุ่มน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.5% กลุ่มน้ำมันก๊าดเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.8% กลุ่มก๊าซ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7% ซึ่งเพื่อนๆเห็นได้ชัดเลยว่าการผลิตที่ยังคงมีปริมาณเท่าๆเดิม แต่ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นอย่างมาก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันที่เราไม่สามารถผลิตเองได้ หรือผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เข้ามาเพื่อมีความสมดุลและสอดคล้องกับความต้องการใช้งานภายในประเทศนั่นเอง
(ข้อมูลจาก bangkokbiznews.com ในวันที่ 7 มีนาคม 2022)
น้ำมันไทยทำไมต้องส่งออกทั้ง ๆ ที่นำมาใช้ได้?
สาเหตุที่ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำมันดิบนั้น พี่วาฬขอบอกเลยว่ามันไม่ได้เป็นเพราะเรามีน้ำมันดิบเหลือเฟือเลยต้องส่งออก แต่เกิดจากสาเหตุหลักๆ คือ 1. น้ำมันดิบไม่เหมาะสมกับเทคโนโลยีของโรงกลั่น เช่น มีสารโลหะหนักสูง และ 2. น้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศมีลักษณะเบา เมื่อนำมากลั่นแล้วมีลักษณะไม่เหมาะกับความต้องการใช้ของคนในประเทศ ก็เลยต้องส่งออกสู่ประเทศอื่นๆ ข้อดีของการส่งออกคือการเพิ่มมูลค่าให้น้ำมันส่วนเกิน และทำให้ประเทศมีรายได้จากการส่งออกน้ำมัน และภาครัฐก็ได้จัดเก็บค่าภาษีนำไปหมุนเวียนในการบริหารภาคส่วนอื่น ๆ ในประเทศนั่นเอง
จากข้อมูลทั้งหมดที่พี่วาฬบอกไป เพื่อน ๆ คงเข้าใจแล้วว่า แหล่งน้ำมันในประเทศเรามีเยอะก็จริง แต่ปริมาณน้ำมันที่นำมาใช้งานได้จริงในประเทศนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ทำให้เราต้องนำเข้าน้ำมันจากประเทศอื่นมาใช้ ในขณะที่น้ำมันที่เราขุดได้แต่กลั่นไม่ได้หรือกลั่นแล้วคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการใช้งาน ก็เลยต้องส่งออกให้กับประเทศที่ต้องการนั่นเอง
อ้างอิง: