อัปเดตสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 18-22 ต.ค. 64 และแนวโน้ม 25-29 ต.ค. 64
✔️ ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลก เฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 1-2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดย ICE Brent มีการซื้อขายระหว่างวันทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ NYMEX WTI สูงสุดในรอบ 7 ปี และมีแนวโน้มทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง
✔️ ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากวิกฤติขาดแคลนไฟฟ้าและพลังงานในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ จีน ยุโรป และอินเดีย สนับสนุนราคาน้ำมัน โดยภาครัฐได้พยายามแก้ปัญหาวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้าและพลังงานที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลจีน เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 64 คณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission: NDRC) สั่งการให้เหมืองถ่านหินในจีนผลิตถ่านหินเต็มกำลังการผลิตที่ 12 ล้านตันต่อวัน เพื่อป้อนแก่โรงไฟฟ้าให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศและบรรเทาความร้อนแรงของราคาถ่านหิน ส่งผลให้ราคาถ่านหินที่ตลาด Zhengzhou Commodity Exchange ณ วันที่ 21 ต.ค. 64 ลดลง 14% จากราคาสูงสุดอยู่ที่ 1,365 หยวนต่อตัน หรือ 213 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน
✔️ ด้านเทคนิค สัปดาห์นี้ราคา ICE Brent มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 84 – 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีโอกาสที่ ICE Brent จะขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญ คือ 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ภายในปีนี้
🛢️ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
➕ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ต.ค. 64 ลดลง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 426.5 ล้านบาร์เรล และปริมาณสำรองที่ Cushing รัฐ Oklahoma ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI ลดลง 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 31.2 ล้านบาร์เรล ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี
🛢️ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
➖ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics of China: NBS) รายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน ก.ย. 64 ลดลง 2.6% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 13.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน หลังจีนออกมาตรการควบคุมอุปทานพลังงานโดยการปันส่วนในภาคอุตสาหกรรมและพยายามรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ