ถ้าพลาสติกมันย่อยสลายได้ยาก ก็ทำให้มันย่อยสลายได้ง่ายขึ้น!
แนวคิดนี้เป็นของ Angelina Arora นักเรียนมัธยมปลายจาก Sydney Girls High School แห่งเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เธอได้ลองคิดค้นวัสดุจากธรรมชาติเพื่อนำมาใช้ทดแทนถุงพลาสติก โดยเลือกใช้ “เปลือกกุ้ง” ที่มีสารที่เรียกว่า ไคติน ซึ่งมักมีอยู่ในสัตว์ที่มีเปลือกแข็งต่างๆ เช่น หอย ปู จากนั้นจึงนำมาสกัดเพื่อให้ได้ไคโตซานหรือสารโพลิเมอร์ธรรมชาติออกมา แล้วจึงนำมาผสมเข้ากับ ไฟโบรอิน (silk fibroin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ได้จากรังไหม จึงทำให้ได้วัสดุที่มีความใส ยืดหยุ่น ทนทาน และมีความเหนียวเช่นเดียวกับคุณสมบัติของพลาสติก แถมผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติ จึงไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ
จากการทดลองพบว่า เมื่อนำพลาสติกชีวภาพที่ได้จากเปลือกกุ้งไปฝังกลบในดิน จะสามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลาเพียง 33 วันเท่านั้น และยังมีการปล่อยสารไนโตรเจนออกมาช่วยบำรุงรักษาดินและการเจริญเติบโตของพืชได้ดีด้วย
นับเป็นอีกนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหามลภาวะที่เป็นอยู่ของโลกทุกวันนี้ได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องขยะพลาสติก การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนที่แท้จริงได้ขึ้นอยู่ด้วยมือเราทุกคนมากกว่าว่าจะสร้างโลกและกำหนดทิศทางให้โลกใบนี้เป็นไปแบบไหนนะค้าบ