ในปีที่ผ่านมา ทั่วโลกประสบกับปัญหากับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วน ทั้งสุขภาพร่างกาย สิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเองได้รับผลกระทบจนถึงปัจจุบัน แต่การดำเนินธุรกิจ ปตท. เองยังคงเป็นที่ 1 ที่มีมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลายคนสงสัยใช่มั้ยครับว่า รายได้ ปตท. มาจากไหน ทำไมถึงมีมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์มากที่สุด และรัฐยังเกี่ยวข้องอย่างไร ทำไมต้องนำรายได้ส่งรัฐ พี่วาฬรวบรวมข้อมูลมาให้แล้วฮะ
รายได้ ปตท. มาจากไหนบ้าง?
ถ้าอยากรู้ว่ารายได้ ปตท. มาจากทางไหนบ้าง เราต้องเริ่มจากการรู้จักธุรกิจและดูโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกันฮะ ว่าที่เขาทำ มีอะไรบ้าง โดยวันนี้ เราจะมาดูโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ซึ่งแบ่งออกเป็นธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินงานเองและธุรกิจที่ลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม ดังต่อไปนี้
- ธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินงานเอง (รายได้ที่เป็นรายได้หลัก) ประกอบด้วย
- กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
ทำหน้าที่จัดหาก๊าซธรรมชาติจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขนส่งก๊าซผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ แยกก๊าซธรรมชาติ และจัดจำหน่าย รวมถึง การขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติทั้งในและต่างประเทศ โดยมีพันธกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศ
- กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
ประกอบธุรกิจด้านการจัดหา การนำเข้า การส่งออก และการค้าระหว่างประเทศ (Out-Out Trading) ครอบคลุมน้ำมันดิบ คอนเดนเสทผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ ปตท. และบริษัทในเครือให้มีศักยภาพในการแข่งขัน นอกจากนี้ มีการให้บริการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมัน และการจัดหาเรือขนส่งต่างประเทศ เพื่อช่วยในการแสวงหาโอกาสและเพิ่มมูลค่าทางการค้าของผลิตภัณฑ์
- กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม
ถูกจัดตั้งเพื่อดำเนินงานด้านวิศวกรรม อสังหาริมทรัพย์ ดิจิทัลและเทคโนโลยี สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ ปตท. รวมถึงพัฒนาธุรกิจ New Business S-Curve โดยสร้างความเชื่อมโยงในการบริหารจัดการกลุ่มธุรกิจหลักของ ปตท. การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนเสริมสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ของ ปตท. อาทิ ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม พัฒนาต้นแบบและแสวงหาโอกาสดำเนินธุรกิจ New Business S-Curve รองรับการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ถ้าถามว่า รายได้ ปตท. ที่เป็นรายได้จากธุรกิจหลักมีอะไรบ้าง?
ก็ตอบได้ว่าเป็น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่ครอบคลุมอย่างครบวงจร
มีธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ที่ทำการการจัดหา การนำเข้า การส่งออก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และ ปิโตรเคมี
และธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม เป็นธุรกิจใหม่
- ธุรกิจที่ ปตท. ลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม (รายได้ที่มาจากการเป็นผู้ถือหุ้น)
- ธุรกิจสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ
ดำเนินการโดย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (“PTTEP”) ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งลงทุนในธุรกิจที่ต่อเนื่อง เพื่อแสวงหาแหล่งปิโตรเลียมทั้งนํ้ามันดิบและก๊าซธรรมชาติเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศเป็นหลัก
- ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น
ประกอบด้วยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) ดำเนินธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่การกลั่นน้ำมันดิบเพื่อผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และเม็ดพลาสติกประเภทต่าง ๆ ทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ รวมถึงการให้บริการท่าเทียบเรือและคลังเก็บผลิตภัณฑ์
- ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก
ดำเนินการโดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ (OR) จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น ครอบคลุมการตลาดค้าปลีก (Retail Marketing) ซึ่งเป็นการจัดจำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมันปตท. และตลาดขายส่งน้ำมันให้กับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 และการตลาดพาณิชย์ (Commercial Marketing) ซึ่งเป็นการจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าที่เป็นหน่วยราชการรัฐวิสาหกิจกลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทสายการบิน และเรือขนส่ง เป็นต้น
- ธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปการ
ดำเนินการโดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ดำเนินธุรกิจผลิตสาธารณูปการ (ไฟฟ้า ไอนํ้า และนํ้าปราศจากแร่ธาตุ) ให้ลูกค้าอุตสาหกรรม และดำเนินการผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
รายได้ ปตท. ในส่วนนี้ เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า “รายได้ ปตท. ไม่ได้มีแต่น้ำมัน” เพราะว่ามีการลงทุนกับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ อาทิ กลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก (OR) ที่มีการดำเนินธุรกิจ Non-Oil นับว่าเป็นบริษัทเอกชนที่ รายได้ ปตท. มาจากการเป็นเพียงผู้ถือหุ้น เท่านั้น
สาเหตุที่ต้องนำ รายได้ ปตท. ส่งรัฐ
เป็นเพราะว่าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เริ่มแปรรูปมาตั้งแต่ ปี 2540 และเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งขึ้น พ.ศ. 2544 ถึงแม้จะจดทะเบียนแล้วแต่รัฐก็ยังมีหุ้นส่วนที่ถืออยู่ใน ปตท. เพราะทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2 พันล้านหุ้น โดยมี กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เริ่มซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2544 จึงต้องมีการนำส่งปันผลในแต่ละปีที่ได้จาก รายได้ ปตท. กลับคืนไปยังรัฐที่เป็นผู้ถือหุ้นด้วยนั้นเอง
ที่มาของภาพ : PTT Insight
โดยเราสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นของ PTT : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้จาก เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ที่นี่ www.set.or.th
รายได้ ปตท. เป็น 1 ใน 10 รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เข้ารัฐสูงสุด
รัฐวิสาหกิจ คือองค์กรธุรกิจของรัฐหรือองค์กรธุรกิจที่รัฐเป็นผู้ลงทุน 100% ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น ในทุกๆ สิ้นปีงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะมีการจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้น โดยปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา รายได้ ปตท. เป็น 1 ใน 10 รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้แผ่นดินเข้ารัฐสูงสุด
โดยในเดือน กันยายน 2563 สคร. จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้น ต่ำกว่าร้อยละ 50 (กิจการฯ) จำนวน 6,573 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 (1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563) มีเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการฯ รวมจำนวน 188,861 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายเงินนำส่งรายได้แผ่นดินตามเอกสารงบประมาณจำนวน 188,800 ล้านบาท โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก มีดังนี้
1 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 46,598 ล้านบาท
2 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 29,198 ล้านบาท
3 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 28,619 ล้านบาท
4 ธนาคารออมสิน 18,000 ล้านบาท
5 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 10,500 ล้านบาท
6 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 8,890 ล้านบาท
7 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 6,715 ล้านบาท
8 การท่าเรือแห่งประเทศไทย 6,230 ล้านบาท
9 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 5,922 ล้านบาท
10 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 5,660 ล้านบาท
และอื่นๆ 22,529 ล้านบาท
รวม 188,861 ล้านบาท
หมายเหตุ : ข้อมูลเงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลัง โดย สคร. จัดเก็บ ซึ่งไม่รวมเงินนำส่งรัฐประเภทอื่น เช่น ภาษีหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ
ธุรกิจที่ ปตท. ทำอยู่เป็นธุรกิจพลังงาน ที่ยังคงสำคัญสำหรับประเทศไทยเสมอ ตัวองค์กรเองจึงสร้างรายได้และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเพื่อให้สมกับการเป็นบริษัทผู้นำ แต่การแปรรูปที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรในอดีต ยังมีกลุ่มคนที่รู้สึกต่อต้าน ไม่เห็นด้วยจึงเกิดการตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับตัวโครงสร้างธุรกิจและแหล่งที่มาของรายได้อยู่เสมอเช่นกัน แต่ถ้าคุณเป็น 1 ในกลุ่มคนนั้นสนใจและอยากรู้ความจริงเกี่ยวกับรายได้ ปตท. เราขอชวนคุณมาเป็นชาวพลังงานเลิฟเวอร์กับพี่วาฬ สามารถติดตามข่าวเทคโนโลยี องค์กรนวัตกรรม และความรู้พลังงานอื่นๆ เพิ่มเติมกันอีกฮะ
ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : thaigov.go.th, pttplc.com – investor, pttplc.com – products, sepo.go.th
สามารถติดตามได้ที่ www.whaleenergystation.com
Facebook Fanpage : www.facebook.com/whaleenergystation
Twitter: www.twitter.com/WhaleEnergy
Instagram: www.instagram.com/whaleenergystation/