ศกพ. เผย กรุงเทพฯ ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 18 พื้นที่ อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ระบุ สาเหตุ เร่งประสานหน่วยงานยกระดับลดฝุ่น
วันที่ 4 ม.ค.2564 ที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น.ส.ศิวพร รังสิยานนท์ รองโฆษกศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) แถลงรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ว่า ปริมาณ PM2.5 ในประเทศเริ่มมีการพบเกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด พื้นที่ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในวันนี้ ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบค่า ระหว่าง 34 –60 มคก./ลบ.ม.
น.ส.ศิวพร กล่าวต่อว่า โดยพบเกินมาตรฐานส่วนใหญ่ในพื้นที่ริมถนนที่มีการจราจรหนาแน่น เกินมาตรฐาน 18 พื้นที่ อาทิ ริมถนนเขตบางขุนเทียน, วังทองหลาง, ดินแดง, ปทุมวัน, ยานนาวา, สายไหม, บางกะปิ, มีนบุรี และหนองจอก เป็นต้น รวมทั้งจังหวัดปริมณฑล คือ จ.สมุทรปราการ และ จ.สมุทรสาคร
น.ส.ศิวพร กล่าวอีกว่า ภาคเหนือ ตรวจวัดได้ 26-66 มคก./ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐานใน จ.ลำปาง จ.พิษณุโลก และ จ.เชียงใหม่ ภาคกลางและตะวันตก ตรวจวัดได้ 16-57 มคก./ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐานใน จ.สระบุรี และ จ.สุพรรณบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจวัดได้ 17-54 มคก./ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐานใน จ.หนองคาย
“สาเหตุที่ในวันนี้พบปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ เนื่องจากพบจุดความร้อนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ประกอบกับปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยาอากาศปิด ลมสงบ ทำให้การกระจายตัวของฝุ่นละอองไม่ดี ส่งผลให้ฝุ่นละอองสะสมตัวมากขึ้นจนอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ” น.ส.ศิวพร กล่าว
สำหรับการบูรณาการแก้ไขปัญหา รองโฆษก ศกพ. กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.), กรมการขนส่งทางบก และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งจังหวัดปริมณฑล กระทรวงมหาดไทย (มท.), กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับการดำเนินงานเพื่อกำกับดูแลแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
น.ส.ศิวพร กล่าวว่า โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ ขอให้พี่น้อง ประชาชนดูแลสุขภาพ สวมใส่หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เมื่อออกนอกบ้าน หากจอดรถยนต์ขอความกรุณาดับเครื่องยนต์ และขอให้หมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้ก่อควันดำ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเลือกดูข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง และแบบค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง โดยท่านสามารถติดตามข้อมูลได้จากเว็บไซต์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com หรือทางแอพพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK ท่านยังสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศผ่านทางเฟซบุ๊ก “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)”