จากช่วงต้นปี 2562 ประเทศไทยเกิดปรากฏการณ์ฝุ่นปกคลุมอย่างหนาแน่นและคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เป็นเหตุให้ทุกภาคส่วนตั้งแต่หน่วยงานรัฐ สื่อมวลชน และประชาชนเองต้องออกมาหาคำตอบว่ามันคืออะไร นี่คือครั้งแรกที่เรื่องฝุ่น PM 2.5 ปรากฏอยู่บนสื่อแทบทุกแขนง ประเทศไทยมักถูกจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก โดยการจัดอันดับตามมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา (US AQI)
PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบได้ว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ เล็กจนขนจมูกของมนุษย์ที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ จึงแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้ ตัวฝุ่นเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งแหล่งกำเนิด PM 2.5 หลักๆ ในประเทศไทย มี 3 อย่าง คือ รถยนต์ การเผาในที่โล่งแจ้ง และสภาพความกดอากาศต่ำ จากวิกฤตดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เกิดการนำข้อมูลเรื่องค่าฝุ่นละอองมาใช้ประโยชน์เป็นปริมาณมาก โดยจะเห็นได้จากสื่อและข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ต่าง ๆ มากมาย แต่หากการได้มาซึ่งข้อมูลสภาพอากาศโดยภาพรวม ไม่ตรงกับพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ต้องการรู้ข้อมูล
สถาบันนวัตกรรม ปตท. โดยทีมวิจัยจากฝ่ายเทคโนโลยีพลังงานใหม่ เล็ง เห็นปัญหาและต้องการหาทางแก้ไข จึงมีแนวคิดพัฒนาเครื่องวัดค่าฝุ่น (PM 2.5) ภายใต้ชื่อ “Nong Pim” Air Detector เพื่อนำมาช่วยในการวัดปริมาณฝุ่น ว่าเกินกว่าค่ามาตรฐานตามที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดหรือไม่ โดยเครื่องมีขนาด 80x145x55 มิลลิเมตร น้ำหนักรวม 220 กรัม ด้วยระบบ Smart Sensor สำหรับตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเทคโนโลยี Laser Scattering ส่งผ่านข้อมูลด้วยการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายแบบ NB-IoT สามารถติดตั้งได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร เพื่อตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 จากนั้นส่งค่าวัดไปยังระบบบริหารจัดการข้อมูลบน Cloud Server แสดงผลผ่าน Direct Text Message, Web Application และ Web API สำหรับการนำข้อมูลไปใช้งานบน Platform อื่น ๆ
เครื่องวัดฝุ่นเป็นเครื่องนับอนุภาคหรือปริมาณฝุ่นซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับการตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในอาคาร โดยปัจจุบัน สถาบันนวัตกรรมฯ ปตท. ได้ดำเนินการติดตั้ง Nong Pim ใช้จริงภายในกลุ่ม ปตท. มากกว่า 60 จุดแล้ว และคาดว่าจะมีการขยายผลทางเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต แต่ทั้งนี้ปัญหาฝุ่นละอองไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น และไม่ใช่ปัญหาที่จะหมดไปง่าย ๆ หากยังมีการเผาผลาญเชื้อเพลิง มีการใช้พลังงานต่าง ๆ อย่างเกินความจำเป็น เราก็จะต้องอยู่กับสภาพอากาศที่ไม่บริสุทธิ์กันต่อไป หากเราสามารถร่วมมือกันลดการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อากาศดี ๆ ก็คงกลับมาในไม่ช้า