สนพ. เผย 9 เดือนภาพรวมการผลิต-นำเข้าพลังงานวูบ จากโควิด “ น้ำมันเครื่องบิน” อ่วมสุด หดตัว 57.7%
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยสถานการณ์พลังงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 พบว่า ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้นลดลงร้อยละ 8.0 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงาน การผลิต และนำเข้าพลังงานชะลอตัวลง
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นลดลงร้อยละ 8.0 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การผลิตพลังงานขั้นต้นลดลงตามความต้องการใช้พลังงาน โดยลดลงร้อยละ 10.2
ในขณะที่ไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของประเทศลาวเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปลายปี 2562 จำนวน 3 โรง มีกำลังการผลิตรวม 1,843 เมกะวัตต์ สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 สรุปได้ดังนี้
การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 12.4 โดย การใช้น้ำมันดีเซล ลดลงร้อยละ 2.9 เป็นผลจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีการขนส่งสินค้าลดลง การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล ลดลงร้อยละ 2.3 โดยการใช้ในไตรมาสที่สามปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และการสนับสนุนการท่องเที่ยวผ่านมาตรการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาล ทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้น
การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลงร้อยละ 57.7 เนื่องจากข้อจำกัดของการอนุญาตให้ทำการบินในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบินลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การใช้ LPG ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง ลดลงร้อยละ 27.6 จากการปรับลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์ LPG บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน
การใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลงร้อยละ 7.4 โดยลดลงทุกสาขาเศรษฐกิจ ทั้งการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า การใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ด้านการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 29.5 จากผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน เนื่องจากราคาอยู่ในระดับไม่สูงมากนักและมีสถานีบริการทั่วถึงมากกว่า
การใช้ถ่านหินและลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 1.0 และ 5.7 ตามลำดับ ส่วนด้านการใช้ไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 3.1 โดยลดลงในเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาธุรกิจที่มีการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ โรงแรม และห้างสรรพสินค้า ที่มีการใช้ไฟฟ้าลดลง 36.5 และ 16.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ภาคครัวเรือนมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง ร้อยละ 9.5 ผลจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมทั้งหลายหน่วยงานยังคงมีมาตรการ Work from home
“สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการในการป้องกัน โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคต และเตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการใช้พลังงานในสภาวะที่ผันผวน”