ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นชอบขยายเวลามาตรการ “ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge)” ไปจนถึงเดือน มี.ค. 2564 จากเดิมที่จะต้องสิ้นสุด 31 ธ.ค.2563 นี้ตามคำแนะนำของรัฐมนตรีพลังงาน แม้จะกระทบการเก็บรายได้ของ 3 การไฟฟ้าให้ลดลงหน่วยงานละ 35 ล้านบาทต่อเดือน เพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการในกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ จากผลกระทบโควิด-19
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เห็นชอบตามข้อเสนอแนะของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการขยายเวลามาตรการ “ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge)” ไปจนถึงเดือน มี.ค. 2564 จากเดิมจะสิ้นสุด 31 ธ.ค.2563 นี้ โดยผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่จะจ่ายค่าไฟฟ้าตามที่ใช้จริงเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเป็นการขยายเวลายกเว้น Minimum Charge ครั้งสุดท้าย เนื่องจากได้ดำเนินมาตรการดังกล่าวมาตั้งแต่ มี.ค. 2563 และเมื่อต่ออายุให้ถึงเดือน มี.ค. 2564 จะครบรอบ 1 ปีของการยกเว้น Minimum Charge ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเพียงพอสำหรับการดูแลค่าไฟฟ้าผู้ประกอบการ และปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ผู้ประกอบการกลับมาประกอบกิจการมากขึ้น ทำให้การใช้ไฟฟ้าอาจมากขึ้นตามไปด้วย
แต่หากมีปัญหาโควิด-19 รอบสอง และจำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป ก็ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ กกพ.อีกครั้ง
สำหรับการต่ออายุมาตรการยกเว้น Minimum Charge ไปถึง มี.ค. 2564 นี้ จะส่งผลให้ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. )เก็บเงินได้น้อยลงประมาณหน่วยงานละ 35 ล้านบาทต่อเดือน หรือรวมประมาณ 105 ล้านบาท แต่เชื่อว่า 3 การไฟฟ้ายอมรับได้เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้
ทั้งนี้มาตรการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ได้เริ่มช่วยเหลือรอบแรกเดือน เม.ย.-มิ.ย.2563 และต่ออายุอีก 3 เดือน คือตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 2563 จากนั้นได้ต่ออายุอีกครั้งในเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2563 โดยเฉลี่ย 3 เดือน การไฟฟ้าเก็บเงินได้น้อยลงประมาณ 100-200 ล้านบาท และรอบล่าสุดต่ออายุอีกครั้งในเดือน ม.ค.-มี.ค. 2564 ดังนั้นมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้การไฟฟ้าเก็บเงินได้น้อยลงรวมประมาณกว่า 400 ล้านบาท
โดยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ ประกอบด้วย ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 กิจการขนาดกลาง,ประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่,ประเภท 5 กิจการเฉพาะอย่าง ,ประเภท 6 องค์กรไม่แสวงหากำไร และประเภท 7 การสูบน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะจ่ายค่าไฟฟ้าตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง แทนการใช้ระบบ Minimum Charge เป็นการชั่วคราว
สำหรับระบบ Minimum Charge คืออัตราค่าไฟฟ้าเหมาจ่ายขั้นต่ำ 70% ของการใช้ย้อนหลัง 12 เดือน โดยไม่ว่าจะใช้ไฟฟ้าในปริมาณมากหรือน้อยก็ต้องจ่ายในอัตราขั้นต่ำ 70% ของความต้องการใช้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการไฟฟ้าทำการสำรองไฟฟ้าไว้ให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นการเฉพาะเพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แต่ในช่วง COVID-19 กกพ.ได้ยกเว้นการเก็บ Minimum Charge และให้จ่ายเฉพาะไฟฟ้าที่มีการใช้จริงเท่านั้น