ปี 2563 เป็นวิกฤตอุตสาหกรรมโรงกลั่นตั้งแต่ต้นปี เกิดเหตุพิพาทระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันราคาร่วง ต่อเนื่องด้วยวิกฤตโควิด เป็นเหตุให้ขาดทุนสต๊อก ธุรกิจนี้ถูกมองว่าขาลง “วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP โรงกลั่นเก่าแก่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการปรับตัวสู่ “new chapter” ในก้าวย่างเข้าสู่บริษัทอายุ 60 ปี “ไทยออยล์” จะไม่ใช่แค่โรงกลั่นน้ำมัน แต่กำลังทรานส์ฟอร์มสู่ธุรกิจ “พลังงาน-ปิโตรเคมี”
ปรับตัวขาลงธุรกิจน้ำมัน
“วิรัตน์” ระบุว่า โควิดเป็นแบล็กสวอน คือเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงที่ส่งผลกระทบค่อนข้างเยอะและกว้าง เมื่อปลายปีก่อนเรามองว่าเรื่องใหญ่ที่สุดคือ IMO การกำหนดสเป็กน้ำมันเตาสำหรับเดินเรือให้มีกำมะถันต่ำก็เร่งปรับตัว แต่พอโควิดมาอะไรที่เคยคาดการณ์ก็กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย ผนวกกับปัญหาที่ตะวันออกกลางกับรัสเซียแข่งกันลดราคาน้ำมัน
“ภาคพลังงานโควิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ‘energy transition’ ให้เร็วขึ้น ผมเรียกว่าเป็น wakeup call มนุษยชาติ สิ่งที่มาจากโควิด คือ VUCA หมายถึง volatility ความผันผวน, uncertainty ความไม่แน่นอน, complexity ความสลับซับซ้อน ความเข้าใจยาก และ ambiguity ความคลุมเครือ ขณะที่ซัพพลายเชนเปลี่ยนจาก globalization เป็น regionalization มากขึ้น การออกแบบการทำงานไม่ใช่ just in time แต่ต้องเป็น just in case ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนทุกอย่างเปลี่ยนเป็นดิจิทัล และโฟกัสเรื่องยั่งยืน ESG และสิ่งแวดล้อม”
แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีของไทยออยล์ในการสร้าง chapter ใหม่ที่ปีนี้มีอายุ 59 ปี กำลังจะครบ 60 ปี ในปีหน้า เป็นโรงกลั่นใหญ่และมีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศและเป็น The last man standing เพราะปีนี้ไม่ว่าโรงกลั่นไหนจะเดี้ยง จะชัตดาวน์ แต่ไทยออยล์ยืนได้สบาย แม้ว่าไตรมาสแรกขาดทุน 14,000 ล้านบาท จากสต๊อกลอส และไตรมาส 3 ยังติดลบอยู่กว่าหมื่นล้าน แต่เพราะไทยออลย์มีบายโปรดักต์ รวมทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ช่วยพยุงกำไรของบริษัทได้
แม้ว่าไทยออยล์จะเป็นโรงกลั่นที่ผลิตน้ำมันเจ็ตถึง 22% แต่ก็มีความยืดหยุ่นปรับมาผลิตน้ำมันดีเซลแทน ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นสูงเกือบเท่าช่วงก่อนโควิด ขณะที่โรงกลั่นอื่น ๆ หลายแห่งต้องปิดไปเลย และคาดว่าน้ำมันเจ็ตอีก 2-3 ปีน่าจะกลับมาเหมือนเดิม
Chapter ใหม่ไทยออยล์
ซีอีโอไทยออยล์กล่าวว่า ก่อนโควิดเราคาดการณ์อยู่แล้วว่าธุรกิจน้ำมันและก๊าซต้องทรานซิชั่น เพราะความต้องการที่ลดลงแต่โควิดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา “energy transition” ทำให้ไทยออยล์ต้องทำ 3 เรื่อง คือ 1.ต้องปรับตัวรวดเร็ว 2.รู้จักฉวยโอกาส และ 3.ต้องมีความยืดหยุ่นกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี ซึ่งวิชั่นของบริษัทคือสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ แปลว่าไทยออยล์เดิมคือ โรงกลั่น แต่อีกหน่อยจะไม่ใช่แค่โรงกลั่น จะเน้นเรื่องพลังงานและเคมีภัณฑ์
โดยมียุทธศาสตร์ 3 ขา หนึ่งคือ การใช้ประโยชน์จากไฮโดรคาร์บอนมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากที่สุด ต่อยอดไปถึงการทำปิโตรเคมีครบวงจร ขาที่ 2 เพิ่มความแข็งแกร่งในการกระจายฐานลูกค้าในห่วงโซ่การผลิต จากปัจจุบันมีบริษัทร่วมทุนอยู่ในเวียดนามและอินโดนีเซีย ก็มีแผนที่จะขยายไปประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ที่มองไว้ก็คือเมียนมาและอินเดีย เน้นการร่วมทุนสร้างพาร์ตเนอร์ชิประยะยาวกับโลคอลบิสซิเนสใหญ่
บุกลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้า
และขาที่ 3 คือการกระจายธุรกิจเพื่อให้เกิดกำไรที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะธุรกิจปิโตรเคมีและน้ำมันมีวัฏจักรขึ้น ๆ ลง ๆ โดยธุรกิจที่จะมาเสริมก็คือ “ธุรกิจโรงไฟฟ้า” ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่เสริมความมั่นคงทางกำไรของบริษัทได้ดี โดยที่ผ่านมาไทยออยล์ถือหุ้นบริษัท GPSC อยู่ 24.5% และล่าสุดได้ตัดขายออกไปให้ทางบริษัท ปตท. 3.5% ได้เงินประมาณ 17,000 ล้านบาท เป็นการปรับพอร์ตซึ่งเป้าหมายการขายคือเอาเงินไปต่อยอดปิโตรเคมีที่เป็นโปรเจ็กต์ใหม่
ในส่วนของธุรกิจโรงไฟฟ้า บริษัทจะมองการลงทุนในส่วนของพลังงานทางเลือกต่าง ๆ ซึ่งก็จะมีทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ แต่จะเน้นการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก และจะเน้นโมเดลการเข้าไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในท้องถิ่น เพื่อให้การทำงานที่คล่องตัวและก้าวไปได้เร็ว
โปรเจ็กต์ยักษ์ CFP ต่อยอดโอเลฟินส์
“วิรัตน์” เล่าว่า สำหรับแผนการต่อยอดไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีนั้นปกติไทยออยล์จะเอาน้ำมันดิบกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป และปิโตรเคมีที่เป็นอะโรเมติกส์ แต่ปิโตรเคมีมี 2 สายคือ อะโรเมติกส์ที่ทำขวดเพ็ต โพลิเอสเตอร์ (ใยเสื้อผ้า) และสายโอเลฟินส์ ที่ไปทำพลาสติกมีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งห่วงโซ่การผลิตโอเลฟินส์ยาวกว่า แต่ปัจจุบันไทยออยล์หยุดอยู่แค่อะโรเมติกส์ ซึ่งต่อไปก็จะขยายไปในส่วนของโอเลฟินส์ พัฒนาเคมีภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นสายเดียวกับ GC (บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล) แต่ GC ต้นทางจะเป็นก๊าซ แต่ของไทยออยล์จะเป็นน้ำมัน
“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไทยออยล์ได้เริ่มลงทุนโครงการ CFP หรือ clean fuel project มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนี้คืบหน้าไป 50% อีก 2-2.5 ปีจะเสร็จ หรือประมาณปี 2566 หากเสร็จแล้วจะได้หอกลั่น 1 หอ ได้ฟีดสต๊อกที่เอาไปต่อยอดเป็นโอเลฟินส์ได้ ซึ่งภาพรวมโครงการนี้จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิต 40% จากปัจจุบัน 275,000 บาร์เรลต่อวัน กลายเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน
รวมทั้งทำให้ได้น้ำมันที่มีคุณภาพมากขึ้น ต้นทุนถูกลง และสามารถคอนเวิร์สน้ำมันเตาซึ่งมีแวลูที่ค่อนข้างต่ำไปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และเป็นโปรเจ็กต์ที่จะทำให้ไทยออยล์สามารถไปต่อยอดสายโอเลฟินส์ได้ ซึ่งจะเป็นอีก chapter ใหม่ของไทยออยล์ ซึ่งต่อไปไทยออยล์ควรจะใช้ชื่อ oil หรือเปล่า เพราะต่อไปจะเป็นธุรกิจพลังงานและเคมีภัณฑ์มากขึ้น”
ซีอีโอไทยออยล์กล่าวว่า เม็ดเงินจากการขายหุ้น GPSC ประมาณ 17,000 ล้านบาท นอกจากทำให้งบการเงินของบริษัทดีขึ้นแล้ว เป้าหมายอีกส่วนก็คือจะเอาเงินไปต่อยอดการขยายธุรกิจปิโตรเคมีในการพัฒนาโปรดักต์ในสายโอเลฟินส์ รองรับกับโปรเจ็กต์ CFP ที่มีแผนจะเสร็จในปี 2566 อยากจะเสียบปลั๊กต่อยอดแวลูเชนไปได้เลยไปให้ไกลถึงดาวน์สตรีมหรือพวกผลิตภัณฑ์ specialty เป็นไฮแวลูโปรดักต์ (HVP) มากขึ้น ซึ่งในอนาคตไทยออยล์จะเป็นโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดและมีแวลูเชนที่ยาวที่สุด”
ฉวยโอกาสโควิดทุกคนอ่อนแอ
นายวิรัตน์กล่าวว่า โมเดลการต่อยอดธุรกิจของไทยออยล์จะเน้นการร่วมลงทุนกับพันธมิตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับหลายบริษัท เพราะเป็นจังหวะที่ดี โควิดมาทุกคนก็วิ่งหาทางปรับตัวลดความเสี่ยงของตัวเอง เรามีความแข็งแกร่ง มีฐานทุนที่ใหญ่ ทุกคนก็เข้ามาคุย ตอนนี้ไทยออยล์มีเงินสด 7 หมื่นล้านบาท และมีคนอยากให้กู้เพิ่มเรื่อย ๆ เวลานี้จึงต้องฉวยโอกาสจังหวะนี้หาพาร์ตเนอร์ ไดเวอร์ซิฟายธุรกิจ
สำหรับภาพรวมแผนการลงทุน “วิรัตน์” ระบุว่า โครงการ CFP เป็นการลงทุนมากที่สุด ใช้เงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.5 แสนล้านบาท) ตอนนี้มาได้ครึ่งทางแล้ว แม้ในช่วงโควิดก็ยังทำงานต่อเนื่อง ถือเป็นโปรเจ็กต์ลงทุนใหญ่ที่สุดในอีอีซี ส่วนปิโตรเคมี 1-2 ล้านเหรียญสหรัฐ และธุรกิจไฟฟ้า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปรับพอร์ตทรานส์ฟอร์มธุรกิจ
“วิรัตน์” กล่าวว่า ทุกวันนี้รายได้บริษัท 80% มาจากธุรกิจปิโตรเลียม อีก 15-20% มาจากธุรกิจไฟฟ้า หลัก ๆ ก็คือการลงทุนใน GPSC ที่ได้ผลตอบแทนกลับมา รวมถึงไทยออยล์พาวเวอร์ คือมีทั้งการลงทุนทางตรงและทางอ้อม แต่ต่อไปไทยออยล์จะลงทุนโดยตรงในธุรกิจโรงไฟฟ้า
“มองไปข้างหน้า 10 ปี หรือในปี 2030 หรือเร็วกว่านั้น สัดส่วนรายได้ของปิโตรเลียมเหลือแค่ 40-50% คือโดยรวมไม่ได้ลดลง แต่ในส่วนธุรกิจปลายน้ำจะโตขึ้น โดยอีก 40% จะมาจากปิโตรเคมี โดยเฉพาะโอเลฟินส์และธุรกิจโรงไฟฟ้า 15% และอีก 5% เป็นผลตอบแทนจากการลงทุนในเวนเจอร์แคปปิตอลต่าง ๆ ซึ่งเน้น 3 กลุ่ม คือกลุ่มเทคโนโลยีใหม่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กลุ่มเทคโนโลยีสีเขียว และกลุ่มที่จะมาดิสรัปต์ซึ่งต้องลงทุนดักไว้ เช่น EV เพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งสวนใหญ่เป็นเวนเจอร์แคปฯในอเมริกาและยุโรป”