กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เชฟรอนประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งสร้างบ้านปลาจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมเป็นครั้งแรก โดยรัฐและเอกชนได้ร่วมกันนำส่วนของขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่เลิกใช้งานแล้วไปจัดวางเป็นปะการังเทียม ดำเนินโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่นไปจัดวางเป็นปะการังเทียมในอ่าวไทย
ที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 21 กันยายน 2563 มีรายงานว่าเมื่อเร็วๆนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต รวมทั้งศูนย์บริการวิชาการจุฬาลกงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ติดตามการจัดวางขาแท่นที่ 4 ที่ถูกรื้อถอนและเคลื่อนย้ายจากแหล่งผลิตกลางอ่าวไทย ไปยังพื้นที่จัดวางบริเวณเกาะพะงัน ในระยะทาง 150 กิโลเมตร ด้วยเรือเครนขนาดใหญ่ที่มีสมรรถนะในการยกสิ่งของซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 3,000 ตัน โดยคาดว่าจะดําเนินการจัดวางครบทั้ง 7 ขาแท่น ภายในเดือนกันยายน 63
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่าที่ผ่านมา ทช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจัดทำปะการังเทียม เพื่อเป็นการอนุรักษ์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในทะเล ปีละประมาณ 100 ล้านบาทอยู่แล้ว การที่นำส่วนของขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ซึ่งมีความคงทน แข็งแรง ทำจากเหล็กกล้า (carbon steel) มาจัดวางเป็นปะการังเทียมเพิ่มเติม โดยการสนับสนุนงบประมาณและทรัยากรจากบริษัท เชฟรอน
“สิ่งสำคัญก่อนเริ่มดำเนินโครงการได้มีการศึกษาทดลอง ด้วยการนำโครงสร้างเหล็กจำลองชนิดเดียวกับขาแท่นปิโตรเลียมไปวางเป็นปะการังเทียม ที่อ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน โดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และ ทช. ร่วมกันศึกษามาตั้งแต่ปี 2556 พบว่า วัสดุมีความเหมาะสม สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดอย่างได้ผล รวมทั้งมีการใช้ประโยชน์ของพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและการประมงอย่างมาก” อธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งระบุ
สำหรับลักษณะของขาแท่นขุดเจาะเหล่านี้ มีน้ำหนักราว 300–700 ตัน สูง 70-84 เมตร เมื่อวางในแนวนอนความกว้างของฐานจะสูงประมาณ 20-22.5 เมตร การนำมาจัดวางที่ระดับน้ำ 40 เมตรเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือทุกชนิด มีระยะห่างของยอดกองปะการังเทียมกับผิวน้ำไม่น้อยกว่า 15 เมตร ซึ่งมั่นใจว่า กองปะการังเทียมจากขาแท่น จะกลายเป็นบ้านปลาและแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากนี้ ยังเพิ่มแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ในเขตน้ำลึก และช่วยลดผลกระทบจากการดำน้ำในแนวปะการังธรรมชาติลงได้ อธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งระบุ
นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากจัดวางขาแท่นปิโตรเลียมครบทั้ง 7 ขาแท่นแล้ว ทช. และจุฬาฯ ซึ่งได้รับงบประมาณจากทางเชฟรอน 22.8 ล้านบาท จะร่วมกันศึกษา ติดตามและประเมินผลโครงการ ในระยะแรก 2 ปี นำความรู้ที่ได้มาถอดบทเรียนตามมาตรฐานวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนงานและการจัดการปะการังเทียมจากขาแท่น นอกจากนี้ ทช. ได้เตรียมออกประกาศให้พื้นที่จัดวางปะการังเทียมดังกล่าวเป็นพื้นที่คุ้มครอง เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ของพื้นที่อย่างเหมาะสมทั้งในด้านการประมงและการท่องเที่ยวด้วย
ขณะที่ นายอรรจน์ ตุลารักษ์ ผู้จัดการแผนกรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เลิกใช้งานในกิจการปิโตรเลียม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า ส่วนของขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมในปัจจุบันจริงๆแล้วหน้าที่เสมือนปะการังเทียมอยู่แล้ว เพราะมีโครงสร้างซับซ้อนและมีความทนทาน จึงทำให้มีสิ่งมีชีวิตเกาะติด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำหลากหลายชนิด การย้ายขาแท่นมาอยู่บริเวณที่ใกล้กับชายฝั่งมากขึ้นที่บริเวณเกาะพะงัน จะทำให้เกิดประโยชน์ในหลายด้านทั้งช่วยเพิ่มแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ สร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนทางด้านการท่องเที่ยวและการประมงแนวทางนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก อาทิ ในอ่าวเม็กซิโก บรูไน มาเลเซีย
สำหรับการรื้อถอนส่วนของขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม เพื่อนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียมนั้น ถือเป็นหนึ่งในแนวทางของการบริหารจัดการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้กิจการปิโตรเลียม จะต้องดำเนินการทยอยรื้อถอนแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ที่รัฐไม่ได้รับโอนไปใช้ประโยชน์ต่อ จำนวน 49 แท่น โดยโครงสร้างของแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจะมี 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนบน หรือ Topside สามารถรื้อถอนเพื่อนำมาจัดการบนฝั่งหรือรื้อถอนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ และส่วนของขาแท่นที่อยู่ใต้ระดับน้ำทะเล สามารถรื้อถอนเพื่อนำมาจัดการบนฝั่ง หรือรื้อถอนเพื่อนำมาใช้ทำปะการังเทียมในบริเวณที่กำหนด โดยต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จึงจะสามารถเริ่มดำเนินงานได้