สิ่งแวดล้อม

ทาร์บอลในชั้นบรรยากาศเทือกเขาหิมาลัย

Pinterest LinkedIn Tumblr

ทาร์บอลในชั้นบรรยากาศเทือกเขาหิมาลัย, Whale Energy Station

บางคนเรียกที่ราบสูงหิมาลายาทิเบตว่าขั้วโลกที่สาม เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นแหล่งหิมะและน้ำแข็งมากที่สุดนอกขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ทว่าธารน้ำแข็งกำลังมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอิทธิพลจากมนุษย์ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

และดูเหมือนจะไม่ใช่ข่าวดีนักเมื่อมีรายงานในวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมของสมาคมเคมีอเมริกัน ว่าตรวจพบทาร์บอล (Tarball) หรือก้อนน้ำมันดิบสีดำในชั้นบรรยากาศของเทือกเขาหิมาลัย ทั้งนี้ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นจะปล่อยอนุภาคคาร์บอเนเชียสที่ดูดซับแสง ซึ่งสามารถเกาะบนหิมะและน้ำแข็ง อาจทำให้ธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น มีการวิจัยก่อนหน้านี้บ่งบอกว่าอนุภาคชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเขม่าดำหรือคาร์บอนดำ (Black carbon) กระจายไปได้ไกลโดยแรงลม ช่วยขนส่งไปยังชั้นบรรยากาศของเทือกเขาหิมาลัย ทว่าไม่ค่อยมีใครรู้เกี่ยวกับการมีอยู่ของคาร์บอนสีน้ำตาล (Brown carbon) ซึ่งเป็นอนุภาคที่สามารถสร้างทาร์บอลที่มีลักษณะเป็นทรงกลมขนาดเล็กมีความหนืด และประกอบด้วยคาร์บอน ออกซิเจน ไนโตรเจน กำมะถัน และโพแทสเซียมจำนวนเล็กน้อย

จากการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนพบว่าประมาณ 28% ของอนุภาคนับพันในตัวอย่างอากาศของสถานีวิจัยหิมาลัยมีทาร์บอล และเปอร์เซ็นต์ก็เพิ่มขึ้นในวันที่มีระดับมลพิษสูง การวิเคราะห์รูปแบบลมและข้อมูลดาวเทียมพบว่ามีกิจกรรมการเผาไหม้ของกากข้าวสาลีขนาดใหญ่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุคงคา นักวิจัยคาดว่าทาร์บอลที่เกาะบนพื้นผิวน้ำแข็งอาจส่งผลต่อภาวะโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลนี้จึงสำคัญต่อการสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศในอนาคตที่ควรพิจารณาการขนส่งทาร์บอลระยะไกลไปยังเทือกเขาหิมาลัย