‘วีระ’ ถก บอร์ดจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย พร้อมวางแนวทางช่วยเด็กไร้สัญชาติให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย โดยมีผู้แทนภาคส่วนราชการได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยงานความมั่นคง และเอ็นจีโอ เพื่อดำเนินงานการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยในระยะที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดย ศธ.ได้มีการส่งเสริมให้เด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ประเทศไทยสามารถเข้าถึงด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กนักเรียนให้เจริญเติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศไทยและของประชากรโลกตามหลักของสิทธิมนุษยชน และเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ
รองปลัดศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปีการศึกษา 2563 มีเด็กนักเรียนที่ประจำตัวขึ้นต้นด้วยรหัสจำนวน 51,895 คน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้
1. กำหนดช่วงเวลาในการจัดส่งข้อมูลนักเรียนนักศึกษาที่มีรหัสประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ให้แก่สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับการแก้ไขสถานะทางทะเบียนราษฎรที่เหมาะสม โดยสถานศึกษา : รับเด็กนักเรียนเข้าศึกษาในสถานศึกษา โดยให้สถานศึกษาเข้าไปกำหนดรหัสประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยอักษร G ผ่านระบบกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนเพื่อเข้ารับบริการการศึกษาสำหรับผู้ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร (ระบบ G Code) ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 45 วัน หลังจากรับเด็กศึกษาในสถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัดรับรองผลการกำหนดรหัส G ภายใน 15 วัน หลังจากสถานศึกษาแจ้งผลการกำหนดรหัสประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยอักษร G (เฉพาะสถานศึกษาที่ต้องรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด)
ทั้งนี้ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป. ประมวลข้อมูลนักเรียน นักศึกษาที่มีรหัสประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยอักษร G โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 60 วัน และให้ดำเนินการส่งข้อมูลให้แก่สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยประมวลผลข้อมูลคัดแยกข้อมูล พร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลให้สำนักทะเบียนภาค และสำนักทะเบียนอำเภอ/เขต โดยดำเนินการภายในระยะเวลา 60 วัน หลังจากได้รับข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงศึกษาธิการสำนักทะเบียนอำเภอ/เขต ดำเนินการตรวจสอบความซ้ำซ้อน พิสูจน์ตัวตน และดำเนินการกำหนดสถานะบุคคลตามความเหมาะสม พร้อมทั้งออกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักหลังจากได้รับข้อมูล พร้อมทั้งแจ้งผลการให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข รับทราบ กระทรวงสาธารณสุขนำข้อมูลเด็กนักเรียนที่ได้การกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
2. เปิดโอกาสให้เด็กในศูนย์การเรียนตามกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถเข้าถึงการกำหนดรหัสประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยอักษร G อย่างไรก็ตาม ศธ.ให้ความสำคัญการศึกษาและเดินหน้าให้การศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตามหลักของสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่อไปมีการเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาคต่อไป