ก๊าซธรรมชาติ

40 ปี โรงแยกก๊าซฯ เส้นทางสู่ความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

Pinterest LinkedIn Tumblr

40 ปี โรงแยกก๊าซฯ เส้นทางสู่ความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย, Whale Energy Station

การค้นพบก๊าซธรรมชาติและการก่อตั้งโรงแยกก๊าซ

            นับเป็นเวลากว่า 51 ปีแล้วนะครับ ที่ประเทศไทยได้ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (พ.ศ. 2516) จนกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และเป็นความหวังของประเทศไทย เพราะทำให้ประเทศไทยที่สมัยนั้นต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ สามารถพึ่งพาตนเองในด้านพลังงานได้มากขึ้นจนถูกขนานนามว่าเป็นยุค “โชติช่วงชัชวาล” 😀 ฟังดูยิ่งใหญ่ใช่ไหมครับ เพราะการค้นพบครั้งนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในหลายๆด้านครับ 👏 และตลอดระยะเวลา 51 ปีที่ผ่านมาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ก็ยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักให้กับประเทศ ทั้งเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงยานพาหนะ ก๊าซหุงต้ม และวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เรียกได้ว่าก๊าซธรรมชาตินี้สร้างความ โชติช่วงชัชวาล ให้กับประเทศไทยของเราตามคำกล่าวจริงๆ ครับ 🎉

แต่!? รู้มั้ยครับว่าการที่จะใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติได้นั้น ไม่ใช่ว่าจะขุดขึ้นมาแล้วจะสามารถใช้ได้เลยนะครับ เพราะก๊าซธรรมชาติเดิมนั้นมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีประโยชน์อยู่หลายชนิดปะปนกันอยู่ตามธรรมชาติ และมีคุณค่ามากกว่าจะนำมาใช้เพียงแค่เป็นเชื้อเพลิง ดังนั้นจึงมีการก่อตั้ง “โรงแยกก๊าซธรรมชาติ” ในประเทศไทยขึ้น ซึ่งในบทความนี้พี่วาฬจะพาทุกคนไปเรียนรู้และทำความรู้จักกับ โรงแยกก๊าซฯ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร? สร้างประโยชน์ให้กับประเทศเรามากแค่ไหน? และจะถูกพัฒนาไปในทิศทางใด? บทความนี้รับรองว่าสนุกและได้ความรู้แน่นอน ตามพี่วาฬมาเลยครับ 🐋

ยุคเริ่มต้นของการดำเนินงาน โรงแยกก๊าซ (ปี พ.ศ. 2528 – 2538)

             หลังจากการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในปี พ.ศ. 2516 ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้วางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานโดย คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ดำเนินการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งแรกขึ้นในปี พ.ศ. 2528 ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่โรงแยกก๊าซฯ เริ่มดำเนินการผลิตได้ โดยก๊าซที่แยกได้ถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าและพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ แต่ในช่วงแรกของการดำเนินงาน โรงแยกก๊าซฯ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น ความต้องการก๊าซที่ยังไม่สูง และการต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2528 – 2538 ปตท. ได้สร้างโรงแยกก๊าซ 2 หน่วย ได้แก่

  • หน่วยที่ 1 สามารถแยกก๊าซได้ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สร้างขึ้นที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อปี พ.ศ. 2525 การก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2528
  • หน่วยที่ 2 แยกก๊าซได้ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สร้างขึ้นในบริเวณเดียวกันกับหน่วยที่ 1 โดยดำเนินการก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2534

การขยายตัวและบทบาทในภาคอุตสาหกรรม (ปี พ.ศ. 2538 – 2548)

 หลังจากการแยกก๊าซได้ดำเนินการและถูกพัฒนาควบคู่กันมาอย่างต่อเนื่อง ก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซหุงต้ม (LNG) จึงได้รับความนิยม และความต้องการได้ขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งก๊าซธรรมชาติยังมีบทบาทสำคัญที่ไม่ใช่เพียงแต่ด้านพลังงาน แต่ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแยกเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่สำคัญ เช่น เอทิลีน โพรพิลีน และเมธานอล ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติให้ ปตท. ก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม จากความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2538 – 2548 ปตท. ได้ก่อสร้าง โรงแยกก๊าซเพิ่มอีก 3 หน่วย ได้แก่

  • หน่วยที่ 3 แยกก๊าซได้ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สร้างขึ้นในบริเวณเดียวกันกับหน่วยที่ 1-2 โดยดำเนินการก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2540
  • หน่วยที่ 4 แยกก๊าซได้ 230 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สร้างขึ้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2539
  • หน่วยที่ 5 แยกก๊าซได้ 530 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สร้างขึ้นบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2548

ความยั่งยืนและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า (ปี พ.ศ. 2548 – ปัจจุบัน)

 และจนถึงปัจจุบัน การเติบโตในด้านพลังงานและด้านอุตสาหกรรมยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปตท. ยังคงพัฒนาเทคโนโลยีโรงแยกก๊าซที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การดักจับและใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี พ.ศ. 2593  ถือเป็นการยกระดับความสามารถในการผลิตพลังงานจากก๊าซธรรมชาติให้สูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยในช่วงปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน ปตท. ได้ก่อสร้าง โรงแยกก๊าซเพิ่มอีก 1 หน่วย และยังอยู่ในช่วงการดำเนินการก่อสร้างอีก 1 หน่วย ได้แก่

  • หน่วยที่ 6 เป็นโรงแยกก๊าซที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แยกก๊าซได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สร้างขึ้นในบริเวณเดียวกันกับหน่วยที่ 1-3 โดยดำเนินการก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2553
  • หน่วยที่ 7 ที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง สามารถแยกก๊าซได้ 460 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สร้างขึ้นเพื่อทดแทนกำลังการผลิตของหน่วยที่ 1 ที่เปิดใช้งานมาแล้วกว่า 30 ปี โดยก่อสร้างในบริเวณภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง

อนาคตของโรงแยกก๊าซและความท้าทายในยุคใหม่

แม้ว่าโรงแยกก๊าซฯ จะมีบทบาทสำคัญในด้านพลังงานและอุตสาหกรรมของประเทศไทยมากแค่ใดก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าในปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โรงแยกก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยเองก็มีการปรับตัวเพื่อรองรับความท้าทายที่เข้ามาในอนาคต โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปสู่ยุคของพลังงานสะอาดและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ทุกประเทศต้องเผชิญ และในขณะเดียวกันก็มีโอกาสใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการปรับเปลี่ยนพลังงานที่ใช้ในอุตสาหกรรม และนี่คือความท้าทายของโรงแยกก๊าซที่กำลังปรับตัวครับ

 

  • การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero Emissions)

หนึ่งในความท้าทายหลักในอนาคตของโรงแยกก๊าซคือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) เป็นหนึ่งในทางเลือกที่สำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติ โดยการดักจับและกักเก็บคาร์บอนจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน

 

  • การพัฒนาและใช้พลังงานทดแทน

ในอนาคต โรงแยกก๊าซฯ จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน เช่น พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen) ที่ผลิตได้จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลม ซึ่งจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญในอนาคต การใช้ไฮโดรเจนแทนก๊าซธรรมชาติในบางส่วนสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบพลังงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

  • การใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแยกก๊าซธรรมชาติและการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานต่างๆ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Big Data ในการคาดการณ์การใช้พลังงานและการจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและควบคุมการทำงานของโรงแยกก๊าซ การใช้โดรนและเซ็นเซอร์ที่ทันสมัยในการตรวจสอบโรงงานและกระบวนการผลิต

 

  • การพัฒนาระบบพลังงานที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Energy Systems)

เนื่องจากโลกกำลังมุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งอาจมีความไม่แน่นอนในแง่ของการผลิตพลังงาน โรงแยกก๊าซฯ อาจต้องรับบทบาทในการเสริมความมั่นคงให้กับระบบพลังงาน โดยการพัฒนา Flexible Energy Systems ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และรองรับการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทนที่อาจมีความผันผวน

 

  • การลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน (Renewable Energy Projects)


    โรงแยกก๊าซฯ สามารถขยายบทบาทในการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เช่น การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือพลังงานจากชีวมวล ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และลดการพึ่งพาการใช้พลังงานจากฟอสซิล

 

บทสรุปและการมองไปข้างหน้า

กว่า 40 ปี แล้วนะครับทุกคน ที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ช่วยสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเชื้อเพลิงภายในประเทศ การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไปยังต่างประเทศ ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการผลิตพลังงานจากก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตไฟฟ้า การปิโตรเคมี และเชื้อเพลิงในครัวเรือน ช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ

และในอนาคต โรงแยกก๊าซฯ จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการพัฒนาการใช้ไฮโดรเจนเพื่อรองรับความต้องการพลังงานที่ยั่งยืน และด้วยบทบาทที่สำคัญนี้ พี่วาฬเชื่อว่า ปตท. ที่มีวิสัยทัศน์และผ่านการพิสูจน์มาแล้วจากอดีตมาถึงปัจจุบันจะสามารถสร้างความมั่นคงในด้านพลังงาน และส่งเสริมเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืนแน่นอน พี่วาฬขอขอบคุณครับ 🐋

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://mgronline.com/business/detail/9540000115720

https://procurement.pttplc.com/th/page/index/2092