เทคโนโลยี

“เทคโนโลยี CCS” กุญแจสำคัญสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย

Pinterest LinkedIn Tumblr

“เทคโนโลยี CCS” กุญแจสำคัญสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย, Whale Energy Station

ก่อนจะไปรู้จักเทคโนโลยี CCS พี่วาฬอยากอธิบายให้เพือนๆ เข้าใจถึง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แบบเข้าใจง่ายๆ กันก่อน ว่ามันไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งอันตราย แต่เป็นก๊าซที่มีส่วนประกอบของคาร์บอนและออกซิเจนที่อยู่ใกล้ตัวเรานี่แหละ เพราะส่วนหนึ่งก็มาจากการหายใจออกของเรา ซึ่งเจ้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้จะลอยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ แต่หากมีปริมาณที่มากเกินไปในชั้นบรรยากาศ ก็จะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จนส่งผลกระทบต่อไปยังระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมนั่นเอง🙂

แต่เดิมนั้นโลกเรามีเครื่องมือในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ตามธรรมชาติให้เกิดความสมดุลอยู่แล้ว เช่น ป่าไม้ ป่าชายเลน แต่ด้วยความที่ปัจจุบันโลกเรานั้นกำลังเสียสมดุล และเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการปล่อย CO2 ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจาการใช้พลังงานของเราที่ปลดปล่อย CO2 ออกมา จนระบบนิเวศตามธรรมชาติที่ทำหน้าที่ดูดซับ CO2  นั้นไม่สามารถดูดซับได้ทัน 😣

แต่เมื่อเราทุกคนบนโลกต่างก็ยังจำเป็นต้องใช้พลังงาน หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจึงต้องมีการวางแผน และตั้งเป้าหมายในการควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้สมดุล ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการดูดซับ CO2 ทางธรรมชาติ โดยการเร่งปลูกป่า หรือฟื้นฟูระบบนิเวศชายทะเลหรือป่าชายเลนเพื่อช่วยดูดซับ CO2 ไปเก็บไว้ในผืนดินใต้ทะเลหรือดินเลนชายฝั่ง พร้อมกับคิดหาวิธีการดักจับและกักเก็บ CO2 ที่มาจากการใช้พลังงานของเรา ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก

นอกจากวิธีดั้งเดิมดังกล่าวแล้ว วันนี้พี่วาฬจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับ “เทคโนโลยี CCS” อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ประเทศไทยของเรากำลังศึกษาและเตรียมพร้อมอย่างจริงจัง เพื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 อย่างยั่งยืน 👍

แล้วเจ้าเทคโนโลยี CCS คืออะไร? มีกระบวนการทำงานอย่างไร? ประเทศไทยของเราพร้อมแค่ไหน? ตามพี่วาฬมา พี่วาฬจะเล่าให้ฟัง

“เทคโนโลยี CCS” กุญแจสำคัญสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย, Whale Energy Station

เทคโนโลยี CCS คืออะไร?

         Carbon Capture and Storage (CCS) คือ เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะเป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ โดยการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้า แล้วนำไปกักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินเพื่อไม่ให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลุดลอยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งกระบวนการหลักของเทคโนโลยี CCS นี้แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

  1. การดักจับ (Capture) : กระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตจากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้า
  2. การขนส่ง (Transportation) : ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ถูกดักจับได้จะถูกปรับความดันให้เหมาะสมสำหรับขนส่งไปยังแหล่งกักเก็บ
  3. การกักเก็บ (Storage) : ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จะถูกกักเก็บบนฝั่ง (Onshore) หรือนอกชายฝั่ง (Offshore) ไว้ในชั้นหินทางธรณีวิทยาไว้อย่างปลอดภัย

สรุปง่ายๆ ก็คือการ ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม แล้วนำไปกักเก็บไว้ในที่ที่จะไม่รั่วไหลออกมาทำลายชั้นบรรยากาศของโลกนั่นเอง

ทำไมต้องใช้ เทคโนโลยี CCS?

เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่าในแต่ละปีโรงงานอุตสาหกรรมนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากไม่มีระบบการจัดการที่ดี ก๊าซเหล่านี้จะเพิ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างรวดเร็ว การนำเทคโนโลยี CCS เข้ามาใช้ จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ในทันทีและตรงจุด เพราะเทคโนยี CCS สามารถบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในปริมาณมากได้ อีกทั้งยังเหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก โดยคาดการณ์ว่า เทคโนโลยี CCS จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยได้อย่างน้อย 40 ล้านตันต่อปีภายในปี 2050 และ 60 ล้านตันต่อปีภายในปี 2065 👍

ปัจจุบันทั่วโลกมีโครงการที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยี CCS  นี้อยู่ 41 โครงการ ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ครั้งนี้พี่วาฬขอยกตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจในประเทศนอร์เวย์มาเล่าให้ฟัง ก็คือ โครงการ Northern Lights (Longship) ที่จะเริ่มใช้งานจริงในปี 2024 นี่เอง โดยความน่าสนใจของโครงการนี้คือ

  • เป็นโครงการ CCS ขนาดใหญ่ครบวงจร และมีโมเดลธุรกิจแบบ การค้าข้ามแดน (Cross-Border) ในสหภาพยุโรปแห่งแรกของโลก
  • โรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบ 2 แห่งแรก ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมากกว่า 60% ในการติดตั้งหน่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และได้ประโยชน์จากการลด CO2 และ ETS (EU Emissions Trading System) รวมทั้งไม่ต้องเสียค่าบริการ (Service fee)ในการขนส่งและกักเก็บ CO2
  • ใช้เงินลงทุนสูงถึง 2.3 พันล้านยูโร โดยโครงการเกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนงบ 80% จากรัฐบาล และมีรูปแบบธุรกิจแบบ Cross-Border ที่ชัดเจน

แล้วระบบกักเก็บ CO2 ใต้ดินปลอดภัยจริงไหม?

         หลายๆ คนอาจสงสัยและกังวลว่าแล้วการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  ไว้ใต้ดินนั้นจะปลอดภัยจริงหรือ? พี่วาฬบอกได้เลยว่า ใช่! เพราะเทคโนโลยี CCS ถูกออกแบบมาให้กักเก็บ CO2 ไว้ในชั้นหินที่มีความลึกตั้งแต่ 1,000 ถึง 3,000 เมตร ซึ่งอยู่ห่างใกลจากผู้คน โดย CO2 ที่ถูกกักเก็บจะถูกขนาบด้วยชั้นหินหนาที่ผนึกแน่นมากจนไม่สามารถรั่วซึมได้ นอกจากนี้ CO2 ที่ถูกกักเก็บไว้ในชั้นหิน เมื่อเวลาผ่านไปจะค่อยๆ เปลี่ยนสภาพเป็นของแข็ง ทำให้มีความเสถียรและปลอดภัยยิ่งขึ้นในระยะยาว เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการติดตามตรวจสอบติดตามการรั่วไหล 3 ระดับ คือ แหล่งกักเก็บใต้พื้นดิน ชั้นใกล้ผิวดิน และชั้นบรรยากาศ เรียกได้ว่าสบายใจหายห่วง 👏

ข้อดีของเทคโนโลยี CCS ที่ประเทศไทยจะได้รับ

  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 60 ล้านตันต่อปี
  • GDP ของประเทศเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้แค่ภาษีคาร์บอน
  • ลดผลกระทบของมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ในการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้มากกว่า 600 ล้านบาท/ปี
  • ส่งเสริมการลงทุนคาร์บอนต่ำ โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไฮโดรเจนสีฟ้าและผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ
  • ส่งเสริมการจ้างงานได้ถึง 10,000 ตำแหน่ง สำหรับการพัฒนา และการดำเนินงานโครงการ CCS

ฟังมาถึงตอนนี้ ทุกคนคงเห็นแล้วว่าเทคโนโลยี CCS มีประโยชน์มากมาย แต่มันก็มาพร้อมกับความท้าทายในการนำมาใช้อยู่มากเช่นกัน เพราะเป็นโครงการที่มีต้นทุนสูง ทั้งด้านการลงทุนและการดำเนินงาน การศึกษาพื้นที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทางธรณีวิทยาที่มีความเหมาะสมและปลอดภัยไม่กระทบกับระบบนิเวศและผู้คน ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการศึกษาพัฒนาอย่างรอบคอบนั่นเอง

ความพร้อมของประเทศไทยกับเทคโนโลยี CCS

แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ประเทศไทยเองก็ไม่ได้นิ่งเฉยในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งาน โดยกลุ่ม ปตท. ได้นำร่องศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ภายใต้โครงการ Eastern Thailand CCS Hub แล้ว ในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. ใน EEC จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยโครงการในระยะแรกจะเน้นที่การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ กลุ่ม ปตท. ได้แก่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้า และขยายขอบเขตไปยังกลุ่มโรงงานนอกกลุ่ม ปตท. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาด้านเทคนิควิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องตลอดจนความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อการผลักดันให้เกิดโครงการ

ถึงตรงนี้พี่วาฬหวังว่าเพื่อน ๆ จะเห็นถึงประโยชน์ของ เทคโนโลยี CCS ที่เป็นอีกหนึ่งทางออกไปสู่อนาคตที่ปลอดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป หากเราทุกคนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนผลักดันการใช้เทคโนโลยีนี้ โลกของเราจะยั่งยืนและน่าอยู่ยิ่งขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อไปอย่างแน่นอน

แล้วอย่าลืมติดตามบทความดีๆจากพี่วาฬได้อีก สวัสดีคร้าบ